ภูมิภาค 11 ก.ย. – จ.นครพนม ฝนตกเติมน้ำหนองหาร ทะลักหนุนน้ำก่ำล้นความจุ ชลประทานต้องเร่งระบายลงน้ำโขง เตือนประชาชนติดกับลำน้ำก่ำ อ.วังยาง อ.นาแก และ อ.เรณูนคร เฝ้าระวัง 24 ชม. เสริมเรือผลักดันน้ำระบายน้ำก่ำ
แม้ระดับน้ำโขงจะลดลงต่อเนื่องวันละประมาณ 10 -20 ซม. แต่ยังต้องเฝ้าระวังคือพื้นที่ตลอดแนวลำน้ำก่ำที่รับมวลน้ำจากพื้นที่หนองหาร จ.สกลนคร เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากน้ำหนองหารเกินความจุ ไหลล้นลงลำน้ำก่ำ ประกอบกับเมื่อคืนที่ผ่านมามีฝนตกลงมาตลอดทั้งคืน ทำให้ลำน้ำก่ำมีน้ำเพิ่มขึ้น อีกทั้งระบายลงน้ำโขงได้ช้า บางจุดเอ่อล้นเกินความจุประมาณ 1 เมตร จากระดับตลิ่ง ท่วมพื้นที่เกษตร ชลประทานจังหวัดนครพนมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อยู่ติดกับลำน้ำก่ำ อ.วังยาง อ.นาแก และ อ.เรณูนคร เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่ามวลน้ำหนองหารจะเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงหากฝนตกซ้ำอีก
เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ลดการระบายน้ำเหลือวันละ 300,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อไม่ให้มวลน้ำไหลไปสมทบกับแม่น้ำชี เพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่น้ำท่วม ขณะที่ผู้ว่าฯ ขอนแก่น ลงพื้นที่ดูบริหารจัดการน้ำในเขตเทศบาลตำบลบ้านเป็ด และเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น เนื่องจากต้องวางแผนการระบายน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งจะมีร่องมรสุมทำให้ฝนตกหนักในสัปดาห์นี้
ที่ยโสธร หลายหมู่บ้านริมฝั่งลุ่มน้ำชี กลายเป็นเกาะกลางน้ำ หลังน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านและพื้นที่ทางเกษตร ระดับน้ำยังทรงตัว ชาวบ้านต้องใช้เรือและเดินลุยน้ำ อาทิ บ้านหนองหอย ต.เขื่องคำ กว่า 100 ครัวเรือนที่อยู่ท้ายเขื่อนยโสธร เดือดร้อนหนัก เนื่องจากน้ำชีเอ่อล้นตลิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน ทำให้ต้องเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน น้ำไหลทะลักท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือน จนกลายสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 50 ซม. บางจุดในหมู่บ้านท่วมสูงถึง 1 เมตร
ปริมาณฝนที่ตกหนักก่อนหน้านี้ บวกกับมวลน้ำจากทางภาคเหนือไหลหลากลงมาในแม่น้ำยม ทำให้กระแสน้ำไหลเชี่ยวและกัดเซาะดินริมตลิ่งพื้นที่หมู่ 6 กับหมู่ 8 ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ส่งผลให้หน้าดินพัง ถนนคอนกรีตที่อยู่ติดกับตลิ่งแม่น้ำยมพังถล่มตามหน้าดินที่ถูกกระแสน้ำในแม่น้ำยมกัดเซาะ ถนนไม่สามารถใช้สัญจรได้ และเป็นเส้นทางเพียงสายเดียวที่เชื่อมต่อกันระหว่างสองหมู่บ้านในพื้นที่ ต.รังนก องค์การบริหารส่วนตำบลรังนกต้องนำแผงเหล็กไปปิดกั้น ติดป้ายแจ้งเตือน เกรงจะเกิดอันตราย
ด้านสำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงจาก 950 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 920 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังปริมาณน้ำหลากจากภาคเหนือ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.สรรพยา ลดลง ช่วยบรรเทาความกังวลของชาวบ้านริมตลิ่ง ขณะที่การส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ก็ลดปริมาณลงด้วยเช่นกัน . – สำนักข่าวไทย