กรุงเทพฯ 9 ก.ย. – กรมป่าไม้เร่งประสาน ส.ป.ก.กำหนดแนวเขตพื้นที่แก้ปัญหาทับซ้อน เพื่อให้การฟื้นฟูป่าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและจัดสรรที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช.ของรัฐบาลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กำลังเร่งประสานงานไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สั่งการให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำหนดแนวขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อน และประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและฟื้นฟูป่า โดยย้ำว่าต้องไม่ให้มีการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาดและประเทศไทยต้องไม่มีป่าเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นอีก พื้นที่ป่าสวนแห่งชาติและพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายผืนมีผู้เข้าไปอยู่อาศัยและทำการเกษตร จึงต้องหาแนวทางให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจถึงประโยชน์ของป่า เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับป่าได้
สำหรับการฟื้นฟูป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งไฟลุกลามหลายจุดนั้น กำลังเตรียมกล้าไม้ประมาณ 100,000 ต้น ปลูกทดแทนด้วยการร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยกำหนดประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้พัฒนาอากาศยานไร้คนขับที่สามารถบินได้ระยะไกลพร้อมมีกล้องตรวจจับความร้อนเพื่อที่จะตรวจสอบพิกัดพื้นที่ที่เกิดไฟป่าได้อย่างแม่นยำ ทำให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเข้าปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว ให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจแล้วจัดทำแหล่งน้ำกระจายทั่วพื้นที่ป่าพรุ ออกแบบการบริหารจัดการน้ำ เมื่อฝนตกต้องกักเก็บน้ำไว้ในป่าพรุมากที่สุด โดยประสานกรมชลประทานทำทำนบดินชั่วคราวกั้นน้ำในคลองต่าง ๆ ในหน้าแล้ง เพื่อรักษาระดับของป่าพรุให้ชุ่มชื้นตลอด เพราะหากใต้ผืนป่าแห้งจะทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย
“การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของพื้นที่นี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน โดยในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ส.ป.ก. กระทรวงมหาดไทย คือ กรมที่ดิน และกระทรวงการคลัง คือ กรมธนารักษ์ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งกำหนดแนวเขตของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน เพื่อใช้ข้อมูลชุดเดียวกันตามโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map เมื่อเสร็จจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูป่า จากการทำแผนที่ป่าไม้และจัดทำฐานข้อมูลป่าไม้ปี 2560 – 2561 ไทยมีพื้นที่ป่า 102,488,302.19 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 จากพื้นที่ประเทศ 320,000,000.70 ไร่ รัฐบาลกำหนดว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หาก One Map มีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากจะทำให้การบริหารจัดการพื้นที่ป่าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังจะส่งผลให้เกิดประโยชน์การจัดสรรที่ดินทำกินแก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนหรือ คทช. เดินหน้าได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล” นายอรรถพล กล่าว.-สำนักข่าวไทย