กรุงเทพฯ 6 ก.ย. – กรมประมงเร่งฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบอุทกภัย 15 จังหวัด พื้นที่เสียหายกว่า 17,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 16,000 ราย ต้องการกลับมาประกอบอาชีพโดยเร็ว เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ เจรจากับบริษัทใหญ่ที่ทำเกษตรพันธสัญญาผ่อนปรนการชำระหนี้ค่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำและอาหาร รวมทั้งหาแหล่งเงินกู้ให้ตั้งตัวใหม่
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 15 จังหวัดได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ อุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด และตรัง เนื่องจากสัตว์น้ำที่ใกล้จับจำหน่ายหลุดลอยไปกับน้ำหลากเกือบทั้งหมด จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 17,500 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 16,900 ราย ส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงปลานิลในกระชัง เลี้ยงปลาดุก กบ และกุ้งก้ามกรามในบ่อ มูลค่าความเสียหายเกือบ 200 ล้านบาท
นายวิชาญ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ไปตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และขอนแก่นนั้น สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนยังตกต่อเนื่อง กระแสน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสภาพน้ำท่วมเกิดขึ้นเป็นวงกว้างยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร จึงกำชับเจ้าหน้าที่ประมงให้สำรวจความเสียหายของเกษตรกรให้ครบทุกราย แล้วเสนอต่อคณะกรรมการคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (กชภอ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (กชคจ.) เพื่อดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2562 หากทางจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ
นายวิชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่วนใหญ่ทำเกษตรระบบพันธสัญญา (Contract Farming) กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ โดยได้ซื้อลูกพันธุ์สัตว์น้ำและอาหารมาแบบชำระเงินภายหลังจำหน่ายผลผลิตได้ แต่เมื่อน้ำท่วมสัตว์น้ำที่กำลังจะจับขายได้หลุดออกไปจนเกือบหมดจึงไม่มีเงินชำระหนี้ เช่น กอบกิจฟาร์ม อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเลี้ยงปลาดุกในบ่อ นำลูกพันธุ์สัตว์น้ำมาเลี้ยงก่อนเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมอาหารมูลค่า 800,000 บาท รวมเป็นเงินลงทุน 1 ล้านบาทต่อ 1 รอบการผลิต กำลังจะจับปลาดุกขายได้ในวันที่ 13 กันยายนนี้ โดยบริษัทจะรับซื้อเป็นเงิน 1.5 ล้านบาท แต่ปลาหลุดออกไปหมด จึงต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเจรจากับบริษัทที่ทำเกษตรระบบพันธสัญญายืดเวลาชำระหนี้ รวมทั้งการลงทุนรอบใหม่นั้น ขอให้ลดราคาค่าพันธุ์สัตว์และอาหารลงบ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกฟาร์ม หรืออีกทางหนึ่งขอให้หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ลงทุนใหม่ เพื่อจะได้ขายผลผลิตนำเงินมาชำระหนี้แก่บริษัท
ทั้งนี้ เบื้องต้นทางกรมประมงจะสนับสนุนลูกพันธุ์สัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต เพื่อให้สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำไว้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายพอมีรายได้ยังชีพระหว่างฟื้นฟูฟาร์ม รวมทั้งให้ประมงจังหวัดประสานงานกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อจัดเตรียมข้อมูลและจัดทำโครงการเสนอภาครัฐเพื่อให้การฟื้นฟูและเยียวยาเพื่อให้เกษตรกรสามารถกลับมาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างรวดเร็ว หากเกษตรกรประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0-2558-0218 และ 0-2561-4740.-สำนักข่าวไทย