กรุงเทพฯ 5 ก.ย.- จากกระแสข่าวกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมนำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบซาฟารี มาใช้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ล่าสุด ทีมวิจัยคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ มีคำชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ยืนยันไม่ใช่ซาฟารีแบบแอฟริกา
ทีมวิจัยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าวยังเป็นเพียงโครงการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์บริเวณพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หนึ่งในโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ในผืนป่าตะวันตก ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมานการศึกษาวิจัยจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ที่ยังเป็นเพียงแนวทางหนึ่งจากการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาคนกับป่าอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า โครงการนี้พัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ฯ ไม่ใช่การเปิดการท่องเที่ยวในรูปแบบซาฟารีเหมือนที่มีในแอฟริกา เพราะลักษณะของพื้นที่ป่าต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่จะเป็นในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ป่ารอบนอกผืนป่าอนุรักษ์ ที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปรับเปลี่ยนอาชีพวิถีชุมชนให้มีแนวคิดในเชิงอนุรักษ์ และเห็นว่าป่าสามารถให้ประโยชน์กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน รวมทั้งพื้นที่ที่วางแผนดำเนินโครงการอยู่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยจะอยู่บริเวณป่ากันชนในป่าสงวนแห่งชาติป่าทับเสลา-ป่าห้วยคอกควาย รวมเนื้อที่ 15,500 ไร่
พื้นที่จุดนี้ทีมวิจัยมองว่า เหมาะสมในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะมีแหล่งวัวแดงฝูงใหญ่อาศัยอยู่ 200-300 ตัว และวัวแดงนี้ทั่วโลกมีเหลือเพียง 8,000 ตัว นอกจากนี้ยังเคยพบร่องรอยของเสือโคร่ง และสัตว์ป่าหลากชนิด เช่น ช้างป่า กระทิง กวางป่า ที่เข้ามาหากินในพื้นที่นี้เป็นประจำ
ทำให้ทีมวิจัยคิดหาแนวทางอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลก ควบคู่กับทำให้ชุมชนอยู่ได้ โดยจะใช้รูปแบบของการท่องเที่ยวเข้ามาใช้ โดยชุมชนจะเป็นผู้นำการท่องเที่ยว จัดเตรียมรถนำเที่ยว วิ่งไปในเส้นทางที่ใช้งานปกติ โดยไม่ต้องเสริมเติมแต่งไปจากวิถีชีวิตเดิม การทำในลักษณะนี้จะเป็นการดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมและลดผลกระทบต่อสัตว์ป่า
ส่วนการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งสะพานเชื่อมเส้นทางหอส่องสัตว์หรือแหล่งที่พักลักษณะกรีนรีสอร์ต ขณะนี้ยังเป็นเพียงต้นแบบเป็นตัวอย่าง ยังไม่มีการลงรายละเอียดหรือเตรียมก่อสร้าง คาดกว่าจะชัดเจนต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม รูปแบบการท่องที่ยวแบบนี้มีใช้ในต่างประเทศ เช่น Kabini Wildlife Safari ประเทศอินเดีย และ Chobe National Park ประเทศบอตสวานา ที่สร้างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบ และป้องกันการล่าสัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการศึกษาว่าจะมีนักท่องที่ยวเฉลี่ย 20,000-30,000 คน/ปี
ด้านนายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แต่วิธีหรือรูปแบบการบริหารจัดการ การดำเนินการ ต้องทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
ด้านนางพันธ์สิริ วินิจจะกูล ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก UNDP ยืนยันเช่นกันว่า การดำเนินการไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบซาฟารี แต่เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการป่ากันชนนอกเขตป่าห้วยขาแข้ง เป้าหมายสำคัญคือ ใช้ในการแก้ปัญหาคนกับสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ชุมชนหันมาเป็นแนวร่วมดูแลสัตว์ป่า และลดพื้นที่เกษตกรรมแบบเดิม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อแนวป่าห้วยขาแข้งไม่ให้ถูกล้อมไปด้วยแหล่งเกษตรและปศุสัตว์ที่จะกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบ
ทั้งนี้ ในส่วนการศึกษาวิจัยโครงการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้ง UNDP สนับสนุนงบประมาณ 6-7 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย