กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ ระบุสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยมมีแนวโน้มคลี่คลาย น้ำจากแพร่ไหลมาสุโขทัยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ชลประทานระดมเครื่องจักร-เครื่องมือและเจ้าหน้าที่แบ่งน้ำที่อำเภอศรีสัชนาลัยตลอดทั้งคืน ตัดยอดน้ำเข้าทุ่งบางระกำ ปกป้องเทศบาลเมืองสุโขทัยพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญไว้ได้ เตรียมรายงานสถานการณ์นายกรัฐมนตรีวันนี้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า บ่ายวันนี้ (4 ก.ย.) จะเดินทางร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานประชุมพิจารณาการช่วยเหลือและแก้ไขอุทกภัยภาคเหนือที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกก่อน
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานว่าอำเภอเนินมะปราง ฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้น้ำจากแม่น้ำชมพูล้นตลิ่งท่วมพื้นที่เกษตรไหลลงมาท่วมอำเภอบางกระทุ่ม ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำน่านที่อำเภอเมือง จังหวดพิจิตรนั้น ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนอำเภอวังทอง ซึ่งแม่น้ำวังทองที่ไหลผ่านมีระดับสูงขึ้นจนล้นตลิ่งเนื่องจากฝนตกหนักในเทือกเขาเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นต้นน้ำและตกหนักในอำเภอวังทองด้วย ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วัน จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปมอบถุงยังชีพและให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่บ้านดงพลวง หมู่ที่ 7 ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง รับฟังสภาพปัญหาของพื้นที่และมอบนโยบายการแก้ไขและป้องกันอุทกภัย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีจะเดินทางทางไปตรวจแนวทางการป้องกันน้ำท่วมอำเภอเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ แต่มีปัญหา คือ ลำน้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองมีลักษณะแคบรับน้ำได้ไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตร (ลบ. ม.) /วินาที แต่ปริมาตรน้ำสูงสุดที่ไหลมาจากจังหวัดแพร่ ซึ่งมาถึงอำเภอศรีสัชชนาลัยช่วงบ่ายวานนี้ (3 ก.ย.) มีปริมาตร 980 ลบ. ม./วินาที สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) บ้านหาดสะพานจันทร์ในอัตรา 560 ลบ. ม./วินาที โดยได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายเป็นหลัก ได้แก่ ผันเข้าคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย (ยม-น่าน) ผ่านปตร.หกบาทในอัตรา 340 ลบ. ม./วินาที แยกไปลงแม่น้ำน่าน ผ่านปตร.น้ำยม-น่านในอัตรา 110 ลบ. ม./วินาที และไปลงแม่น้ำยมสายเก่าผ่านทาง ปตร.ยมเก่าในอัตรา 230 ลบ. ม. /วินาที ส่วนน้ำที่ไหลผ่าน ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ไปแล้วได้ส่งน้ำเข้าคลองเล็กฝั่งซ้าย-ขวาในอัตรารวมกันประมาณ 120 ลบ. ม./วินาที ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอเมืองสุโขทัยในอัตราประมาณ 512 ลบ.ม./วิ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ขนาดของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านเมืองสุโขทัยรับได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้บริหารจัดการน้ำตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา อีกทั้งระดับน้ำแม่น้ำยมมีแนวโน้มลดลงแล้ว ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมือง
ด้านนายทองเปลว กล่าวว่า ได้ยพร่องน้ำแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เพื่อตัดยอดน้ำก่อนเข้าตัวเมืองลงท้าย ปตร.ยางซ้าย ประมาณไม่เกิน 80 – 100 ลบ. ม./วินาที ปิดการส่งน้ำจากโครงการท่อทองแดงที่ส่งน้ำไปอำเภอคีรีมาศ ผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ซึ่งสามารถรับน้ำได้ประมาณ 550 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีน้ำในทุ่ง 70 ล้าน ลบ.ม. ตามแผนบริหารจัดการน้ำบางระกำโมเดลที่กำหนดให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเป็นที่รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำยม
สำหรับการแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืนจังหวัดพิษณุโลกจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นโครงการที่ชาวพิษณุโลกต้องการ ได้แก่ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง ความจุ 90 ล้าน ลบ. ม. ซึ่งจะสามารถบรรเทาภัยน้ำท่วมในอำเภอเนินมะปรางและบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำวังทอง ซึ่งจะสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยระเบย ความจุ 40 ล้าน ลบ. ม. งบประมาณ 1,550 ล้านบาทและอ่างเก็บน้ำห้วยแยง ความจุ 40 ล้าน ลบ. ม. เช่นกันที่ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย สำหรับบรรเทาอุทกภัยในอำเภอวังทองและบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร งบประมาณ 846 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3,996 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ดังกล่าวได้
สำหรับจังหวัดสุโขทัยมีแผนงานปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำทั้งระบบของแม่น้ำยม โดยมีเป้าหมายให้สามารถรองรับน้ำที่ไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัยได้สูงสุด 1,400 ลบ. ม./วินาที ประกอบด้วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในลำน้ำสาขาและประตูระบายน้ำแม่น้ำยมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนและตอนกลางเพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ลดยอดน้ำของแม่น้ำยมตอนบนและตอนกลางที่จะไหลลงพื้นที่แม่น้ำยมตอนล่าง ปรับปรุงคลองผันน้ำและประตูระบายน้ำเพื่อให้สามารถผันน้ำเลี่ยงเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัยออกทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม จากเดิมเคยรองรับน้ำได้ศักยภาพสูงสุดประมาณ 250 ลบ.ม./วินาที เพิ่มเป็นศักยภาพสูงสุดประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที ลงสู่คลองยมน่าน 300 ลบ.ม./วินาที และลงสู่แม่น้ำยมสายเก่า 200 ลบ.ม./วินาที ปรับปรุงคลองระบายน้ำฝั่งขวาที่รับจากน้ำจากประตูระบายน้ำฝั่งขวาเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ให้สมบูรณ์ทั้งระบบเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 100 ลบ. ม./วินาที และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเข้าสู่คลองธรรมชาติทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาที่เชื่อมกับแม่น้ำยมเพื่อผันน้ำเข้าสู่ทุ่งและแก้มลิงธรรมชาติ จากเดิมที่สามารถตัดยอดน้ำได้ 130 ลบ. ม./วินาทีเพิ่มเป็นศักยภาพสูงสุดประมาณ 250 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2563.-สำนักข่าวไทย