ดินแดง 3 ก.ย.-กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยสถานการณ์การเลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วง ยืนยันกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีสภาพคล่อง มีเงินหมุนเวียนกว่า 400 ล้านบาท พร้อมช่วยเหลือลูกจ้าง
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเลิกจ้างงานประเทศไทยและความกังวลว่างบประมาณของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างนั้น ว่า จากกรณีดังกล่าวต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ห่วงใยลูกจ้างซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก สถานประกอบกิจการบางแห่งจึงมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อความอยู่รอด
อย่างไรก็ตามข้อมูลการขึ้นทะเบียนการว่างงานของผู้ประกันตนประกันสังคม เปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2561 กับปี 2562 พบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก โดยในช่วงเดือน ม.ค. – ธ.ค. ปี 2561 มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงานเฉลี่ยต่อเดือน 72,000 คน และปี 2562 จำนวน 79,000 คน ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้ก็จะได้รับค่าชดเชยจ้างนายจ้างและเงินทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคมด้วย
อธิบดีกสร.กล่าวต่อว่า สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและนายจ้างยังค้างจ่ายค่าชดเชย และเงินอื่น ๆ ก็สามารถมายื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราวได้ โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือตามอายุงาน เช่น ทำงานเกิน 120 วันแต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือ 30 เท่าของค่าจ้างรายวัน, ทำงานเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ได้รับเงิน 50 เท่า เป็นต้น
ทั้งนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ได้เป็นการให้เปล่าเมื่อกองทุนฯ จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับลูกจ้างแล้วก็จะเรียกเก็บเงินส่วนดังกล่าวจากนายจ้าง ซึ่งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยได้รับเงินส่วนหนึ่งจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 400 ล้านบาท เงินค่าปรับกรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเงินดอกผลของกองทุนฯ
โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา มีลูกจ้างมาขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 652 คน เป็นเงินประมาณ 12 ล้านบาท และ
ในปี 2562 จำนวน 845 คน เป็นเงินประมาณ 14 ล้านบาท ซึ่งขอยืนยันว่ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีเงินเพียงพอสำหรับช่วยเหลือลูกจ้างอย่างแน่นอน แต่หากไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกจ้างจริง เชื่อว่ารัฐบาลต้องเล็งเห็นความสำคัญและพร้อมจะให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมอย่างแน่นอน แต่ในปัจจุบันนายจ้างส่วนใหญ่จ่ายเงินชดเชยถูกต้องตามกฎหมาย หรือจ่ายค่าชดเชยสูงกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ได้มีการปรับค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างที่ทำงานเกิน 20 ปี ปรับเพิ่มเป็น 400 วัน เพื่อให้ลูกจ้างสามารถดำรงชีพได้หลังถูกเลิกจ้าง.-สำนักข่าวไทย