กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – ปตท.จับมือเอกชนจีนศึกษาตลาดแอลเอ็นจีทางจีนตอนใต้ เตรียมพร้อมเป็นเทรดเดอร์แอลเอ็นจีในภูมิภาคอาเซียน
ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือ AMEM (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายนนี้ หนึ่งในแผนการประชุม คือ เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติและกระทรวงพลังงานผลักดันให้ประเทศไทย โดย บมจ.ปตท.เป็นศูนย์กลางค้าแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.เตรียมแผนความพร้อม เนื่องจากไทยเป็นผู้ใช้ก๊าซฯ รายใหญ่และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีที่ จ.ระยอง ที่มีจำนวน 2 แห่ง และตามแผนจะเกิดเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ส่วนสิงคโปร์และมาเลเซีย แม้จะมีสถานีแอลเอ็นจีแต่ปริมาณการใช้ในประเทศมีน้อยกว่า ดังนั้น ไทยจึงเป็นประเทศที่ตั้งเหมาะสมในการค้าแอลเอ็นจีทั้งในอาเซียนและจีนตอนใต้ โดยล่าสุด ปตท.ได้ร่วมลงนามข้อตกลงเบื้องต้นกับเอกชนของจีนในการศึกษาลู่ทางการขนส่งแอลเอ็นจีและการทำตลาดร่วมกัน โดยจีนตอนใต้เป็นตลาดที่ใหญ่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณสูงและปัจจุบันมีความใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซฯ จึงเป็นทางเลือกที่้เหมาะสม
นายวุฒิกร กล่าวว่า แนวทางการขนส่งก๊าซแอลเอ็นจีจะเป็นทั้งรูปแบบการขนส่งผ่านเรือเล็กจากสถานีของไทยไปประเทศอื่นที่เรียกว่าระบบรีโหลด (Re Load) โดย ปตท.จะใช้เรือเล็กทดสอบระบบนี้เร็ว ๆ นี้ จากสถานีมาบตาพุด รวมทั้งมีความพร้อมในการขนส่งทางรถ เพื่อไปใช้ในรูปแบบโรงไฟฟ้าเคลื่อนที่ ( Mobile Unit) ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีความคล่องตัวมากที่สุดและสามารถผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ โดยที่ผ่านมา ปตท.ได้ทดลองระบบ โดยส่งแอลเอ็นจีไปยังพื้นที่ภาคใต้ในช่วงปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ เจดีเอ ทำให้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนเอ็นจีวีแต่อย่างใด
นอกจากนี้ การขนส่งยังสามารถส่งผ่านทางท่อก๊าซ โดย ปตท.เตรียมแผนศึกษาการก่อสร้างท่อก๊าซใหม่ 2 ท่อ เพื่อรองรับฮับอาเซียน ได้แก่ โคราช-ขอนแก่น-น้ำพอง และเส้นพระนครใต้-บางปะกง ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะเห็นชอบหรือไม่
สำหรับการประชุม AMEM (เอเมม) มีเป้าหมายที่จะผลักดันแผนปฏิบัติการอาเซียน เช่น การซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีระหว่างกัน แผนส่งเสริมพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นเป็นระดับร้อยละ 23 ภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่อยู่ระดับร้อยละ 14 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด การผลักดันประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน เพื่อลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2563 อย่างไรก็ตาม พบว่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีกว่าแผน โดยเมื่อปี 2560 สามารถทำได้ร้อยละ 21.7 ซึ่งที่ประชุมจะมีการวางเป้าหมายที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยจะมีการหารือกับกัมพูชาในเรื่องการพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ืทับซ้อนทางทะเลอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย