ทำเนียบรัฐบาล 10 ส.ค. – นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน และนายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย
ระยะที่ 1 คือ การเตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (พ.ศ. 2559-2560) ผ่านการโครงการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ โดยมอบหมายให้หน่วยงานด้านพลังงานร่วมกันขับเคลื่อน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการนำร่องสาธิตการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารถยนต์มินิบัสไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า(Charging Station) การนำร่องการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทกริด เพื่อบริหารการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และ การศึกษาพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นสูงรองรับการติดฉลากเบอร์ 5 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า
ส่วนการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 สถานี เพื่อรองรับโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ระหว่างดำเนินการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าและจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเส้นทางสุวรรณภูมิ–พัทยา คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2560 ขณะที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำร่องรถโดยสารรับส่งพนักงานจาก ปตท. สำนักงานใหญ่–BTS สถานีหมอชิต เพื่อเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2560 ส่วน ขสมก.เร่งดำเนินโครงการจัดหารถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าจำนวน 200 คัน คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560
ขณะที่ สนพ.และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า ด้วยการให้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน จำนวน 100 สถานี สร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge ประมาณ 60 สถานี ให้การสนับสนุน 1 ล้านบาท/สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge ประมาณ 40 สถานี ให้การสนับสนุน 100,000 บาท/สถานี โดยในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น ขณะนี้มีเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ยื่นขอรับการสนับสนุนมาแล้ว 20 แห่ง คาดว่าจะอนุมัติและสร้างสถานีได้ในช่วงเดือนกันยายน เริ่มเปิดให้ยื่นและทำการคัดเลือก คาดว่าแผนส่งเสริม 100 สถานี หมดภายใน 2 ปี
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อเปิดใช้บริการต้องการส่งเสริมให้ชาร์จไฟฟ้าช่วงกลางคืน Of Peak เพราะค่าไฟฟ้าจะถูกมากเพียง 2.6 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ ยังเร่งศึกษาการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าภายในบ้าน เพราะเครื่องชาร์จไฟฟ้าดังกล่าวมีกำลังขนาดเท่ากับบ้านหนึ่งหลัง หากชาร์จไฟฟ้ารถยนต์พร้อมกันทั้งหมู่บ้านจะป้องกันไฟฟ้าตกไฟดับอย่างไร สำหรับสถานีให้บริการชาร์จไฟฟ้าต้องการให้ตั้งอยู่ในสถานที่มองเห็นและชาร์จไฟสะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เพราะใช้เวลาชาร์จประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดได้ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเหมือนกับพลังงานประเภทอื่น
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานต้องดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรฐานการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ตลอดจนการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าและการออกใบอนุญาตในการจำหน่ายไฟฟ้า ส่วนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ต้องดำกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ รูปแบบเต้ารับ และเต้าเสียบ ฯลฯ กรมการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างการปรับปรุงประกาศ เรื่อง กำหนดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ โดยขณะนี้บีโอไอ ได้ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช.เห็นแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เพื่อให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ ใน 6 พื้นที่จังหวัดชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบไปด้วย แผนระบบส่ง แผนระบบจำหน่าย และแผนงานพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ SEZ1 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลงทุนวงเงินรวมกว่า 7,350 ล้านบาท เบื้องต้นเร่งรัดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพราะมีศักยภาพมากที่สุด จึงมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแผนและรายละเอียดในการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต.-สำนักข่าวไทย