พรรคอนาคตใหม่ 26 ส.ค.-พรรคอนาคตใหม่ จี้กองทัพภาค 4 เปิดความจริงกรณี “อับดุลเลาะ” เสียชีวิต ชี้กฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เกิดความขัดแย้ง
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง หลังจากถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ว่า นายอับดุลเลาะ ถูกเชิญไปให้ปากคำโดยเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 16.00 น. ก่อนจะหมดสติ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าพบนายอับดุลเลาะ หมดสติในห้องน้ำ ใน เวลา 03.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม ก่อนจะนำส่งไปที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จนเสียชีวิตเมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) เวลา 04.03 น. โดยใช้เวลารักษาตัว 35 วัน แม้โฆษกของกองทัพภาคที่ 4 ออกมาชี้แจงว่า นายอัดุลเลาะเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับภาวะปอดอักเสบอย่างรุนแรง เป็นการบอกกลาย ๆ กับสาธารณชนว่าเป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ เท่ากับเป็นการปฏิเสธไปในตัวว่าการเสียชีวิต ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยเจ้าพนักงาน
“พรรคอนาคตใหม่ขอตั้งข้อสังเกตว่า หากมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีเหตุอันผิดธรรมชาติ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเราไม่ทราบว่ามีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายอาญา มาตรา 148 วรรคแรก หรือไม่ และหากมีการชันสูตรพลิกศพจริง การชันสูตรนั้นเป็นการชันสูตร เป็น 2 ฝ่าย หรือ 4 ฝ่าย ซึ่งกรณีนี้สมควรที่จะมีการชันสูตรพลิกศพเป็น 4 ฝ่าย เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่านายอับดุลเลาะหมดสติและเสียชีวิตตั้งแต่การควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานแล้ว ซึ่ง ขณะนี้ ครอบครัวของนายอับดุลเลาะ และประชาชน กำลังตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม นายอับดุลเลาะที่มีร่างกายแข็งแรง ถึงไปหมดสติและเสียชีวิตในค่ายทหาร และเหตุใดกฎหมายพิเศษที่ใช้กันมากว่า 15 ปีนั้น สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือรังแต่จะเกิดความแตกแยกในสังคม ทำให้ประชาชนที่ถูกตั้งข้อสังเกต หรือสันนิษฐานความผิดไว้ก่อน ตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือ ซึ่งทางภาครัฐได้ออกมาแจ้งว่ากล้องวงจรปิดเสียทุกตัว นายอับดุลเลาะ ถูกกระแสสังคมส่วนหนึ่งชี้ไปแล้วว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ยังไม่พบพยานหลักฐานเลย มีเพียงการตั้งข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่เท่านั้น” นพ.วาโย กล่าว
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เบื้องต้น มีผู้ยื่นกะทู้ สำหรับตั้งกรรมาธิการพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ขอยืนยันว่าต้องการให้มีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมามีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักข้อยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องพิจาณาร่วมด้วยว่าหากมีการยกเลิกจริง จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ด้วยหรือไม่.-สำนักข่าวไทย