กสศ.22 สค..-ยกย่อง ครูตชด. ฝ่าฝน-เส้นทางยากลำบากเพื่อเยี่ยมบ้านคัดกรองนร.ยากจน กสศ. เตรียมสนับสนุนทุนเสมอภาคราว 20 ล้านบาท แก่นร.ตชด. อนุบาล – ม.6 กว่า 10,000 คน เริ่มภาคเรียนที่ 1/2562 นี้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ในช่วงเดือน กค.-สค. ที่ผ่านมาครูสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนกว่า 2,196 คนได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน นร.ตชด. เพื่อบันทึกข้อมูลมาสนับสนุนการคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วยวิธีวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test: PMT) การเยี่ยมบ้านของครู ตชด. นี้ถือเป็นหนึ่งในการเดินทางที่ยากลำบากที่สุด เพราะสภาพเส้นทางระหว่างโรงเรียน และบ้านของเด็ก นร.ตชด. ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงที่มีความทุรกันดาร โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนนี้ แต่ครู ตชด. ทุกคนก็มีความมุ่งมั่นและสามารถเก็บข้อมูลนักเรียนเข้ามาได้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด ล่าสุดมีนักเรียนยากจนพิเศษในโรงเรียนสังกัดบก.ตชด. ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการสถานศึกษาแล้วราว 10,000 คน ทั้งหมดนี้จะได้รับการจัดสรรทุนเสมอภาคจาก กสศ.ซึ่งประกอบด้วยเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานเพื่อนักเรียนยากจนที่นักเรียนกลุ่มนี้ยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนมาก่อนจำนวน 500 บาท สำหรับเด็กอนุบาล-ประถมศึกษา และ 1,500 บาท สำหรับเด็กมัธยมศึกษาต่อเทอม และเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไขอีกจำนวน 1,000 บาทต่อเทอม รวมแล้ว นร.ตชด. จะได้รับทุนเสมอภาคคนละ 1,500-2,500 บาทต่อคนต่อเทอม ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา เพื่อใช้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครอบครัวในรายการสำคัญ เช่น ค่าหนังสือเรียนและอุปกรณ์การเรียน ค่าเสื้อผ้าและวัสดุเครื่องแต่งกายนักเรียน ค่าอาหาร ค่าครองชีพ ค่าพาหนะในการเดินทาง หรือจ้างเหมารถรับ-ส่งนักเรียน รวมทั้งกิจกรรมสร้างเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในโรงเรียน เป็นต้น โดย กสศ. ได้เตรียมงบประมาณไว้ราว 20 ล้านบาทเพื่อ นร.ตชด. ในภาคเรียนที่ 1/2562 นี้
ดร.ไกรยส กล่าวว่า การลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำให้พบว่า นักเรียนในโรงเรียนสังกัด ตชด. ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนพิเศษ ครัวเรือนมีรายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฤดูกาลและหลายครอบครัวได้รับเพียงค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำหรือน้อยกว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่อายุไม่ตรงตามเกณฑ์เนื่องจากครอบครัวโยกย้ายถิ่นฐานบ่อย ตามแหล่งการจ้างงาน นักเรียนบางส่วนขาดเรียนบ่อยเพื่อไปช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ บางครอบครัวพี่น้องก็สลับกันมาโรงเรียน การเยี่ยมบ้านเพื่อให้ครูได้รู้จักสภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและครอบครัวอย่างใกล้ชิดเป็นรายบุคคล เพื่อให้ครูนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งในมิติโอกาส และมิติคุณภาพให้แก่เด็กได้เป็นรายบุคคลอย่างยั่งยืน ความเข้าใจนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการเรียนการสอน ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่าถ้าครูมีความเข้าใจเด็กมากขึ้นเท่าใด คุณภาพการเรียนการสอนก็จะดีขึ้นเท่านั้น เพราะครูจะสามารถสอนเด็กได้เป็นรายบุคคล อย่างเต็มศักยภาพ โดยโรงเรียนสามารถใช้งบประมาณจากทุนเสมอภาคในการสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด.ต.หญิง วิไล ธนวิภาศรี ครูใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยสลุง สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อ.แม่ระมาด จ.ตาก กล่าวว่า โรงเรียนบ้านห้วยสลุงมีนักเรียนคละชั้น ราว 80 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ หลายคนมีความต้องการเร่งด่วนเรื่องการจัดการศึกษา ดูแลความเป็นอยู่ด้านคุณภาพชีวิต สุขอนามัย เด็กบางส่วนที่อยู่ไกลออกไปต้องใช้บริการรถรับส่งรายเดือนซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 250-300 บาท ขณะที่เด็กซึ่งมาจากหมู่บ้านห่างออกไปประมาณ 50-60 กิโลเมตรบนดอยสูง หรือบ้านใกล้แต่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทางโรงเรียนจัดอาคารพักนอนให้
“นักเรียนของที่นี่อยากมาโรงเรียนทุกวัน เพราะโรงเรียนเป็นเสมือน “บ้านหลังที่สอง”เป็นที่พึ่งพิง ซึ่งบางแง่มุม บ้านของพวกเขาอาจจะมอบให้ไม่ได้ เด็กบางคนเมื่ออยู่บ้านจะกลายเป็นกำลังแรงงานหลักของบ้าน ต้องทำงานบ้านหรือต้องไปใช้แรงรับจ้าง เด็กจะบอกเหมือนๆ กันว่า มื้ออาหาร และที่พัก ที่ดีที่สุดนั้นอยู่ที่โรงเรียน เพราะเมื่อกลับบ้านจะได้กิน แค่ข้าวกับน้ำพริกและผักที่เก็บได้จากรอบๆ บ้านเท่านั้น บ้านพักนักเรียนบางคนไม่มีฝาบ้านหรือเป็นเพียงเพิงพักชั่วคราวเท่านั้น โรงเรียนจึงกลายเป็นเหมือนพื้นที่ที่พวกเขาฝากทั้งชีวิตและปากท้องไว้ในทุกๆ วัน”ด.ต.หญิง วิไล กล่าว ทั้งนี้หากประชาชนหรือภาคเอกชนใดสนใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษในโรงเรียนสังกัด บก.ตชด. เหล่านี้ สามารถบริจาค สมทบเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2 079-5475.-สำนักข่าวไทย
