กรุงเทพฯ 22 ส.ค. – ทย.เปิดหน้าสู้ ทอท.ต้องการนำท่าอากาศยานกระบี่ไปบริหาร ระบุกระทบแผนงาน และงบประมาณการซ่อมบำรุง เนื่องจากรายได้จากท่าอากาศยานกระบี่มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของรายได้รวม
นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยถึงกรณีผู้บริหาร บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเข้าไปบริหารท่าอากาศยาน 4 แห่งของ ทย. โดยขอเปลี่ยนจากท่าอากาศยานสกลนครเป็นท่าอากาศยานกระบี่ นั้น ทย.เห็นว่าหาก ครม.มีมติมอบความรับผิดชอบบริหารจัดการให้ ทอท.เข้าไปดูแลและบริหารจัดการแทน ทย. โดยมีท่าอากาศยานกระบี่ เป็น 1 ใน 4 ของท่าอากาศยานที่ ทอท.จะเข้าบริหารจัดการแทนจะทำให้ ทย.ประสบปัญหาการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาอีก 24 ท่าอากาศยาน เนื่องจากปัจจุบัน ทย.มีรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่ง ในปี 2561 จำนวน 852,466,789 บาท โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ปี 2561 จำนวน 469,408,760 บาท คิดเป็น 55.05% ประกอบกับท่าอากาศยานเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และรัฐบาลได้ให้งบประมาณลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ไปมากแล้วเพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และการขยายลานจอดอากาศยานซึ่งกำลังดำเนินการอยู่
นางอัมพวัน กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2563 ทย.ขอรับงบประมาณก่อสร้างทางขับขนานด้วย รวมงบประมาณทั้งสิ้นในการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่กว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะนำรายได้ที่จัดเก็บเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานโดยรัฐบาลมีแนวโน้มจะลดภาระงบประมาณในส่วนนี้ของ ทย.ลง โดยรายได้จากการดำเนินการของ ทย. รวมทั้งรายได้จากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนดให้ ทย. นำรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาท่าอากาศยาน เช่น จ้างพนักงานให้เพียงพอ เนื่องจากข้าราชการและลูกจ้างประจำมีกรอบอัตรากำลังจำกัด การซ่อมบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ลิฟท์ บันไดเลื่อน สายพานลำเลียง ซึ่งมีข้อขัดข้องไม่สามารถตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ รายได้ที่เข้าสู่กองทุนจึงเป็นกลไกในการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วทันต่อการให้บริการผู้โดยสาร ประกอบกับขณะนี้ ทย.อยู่ระหว่างจัดทำโครงสร้างเงินทุนหมุนเวียน เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐปีละ 1,000 ล้านบาท และใช้สำหรับแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของผู้โดยสารในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ การซ่อมบำรุงล่าช้าและการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสนามบิน
ดังนั้น ทย.จึงขอสอบถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งคำขอของพื้นที่ในการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลอาจจะต้องขอทบทวนหรืออาจจะมีขึ้นได้ยาก เนื่องจาก ทย.ไม่สามารถรับภาระบริหารจัดการและซ่อมบำรุงท่าอากาศยานที่เหลือทั้ง 24 แห่งได้ ดังนั้น ทย.อาจเสนอกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาเรื่อง management contract หรือ PPP เพื่อความโปร่งใส ทย.จึงไม่เห็นด้วยในการส่งมอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ให้ ทอท. เนื่องจากมีผลกระทบในทางลบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานต่าง ๆ ทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย