กรุงเทพฯ 23 มิ.ย.-คุมเข้มหิ้วของเหลวขึ้นเครื่องบิน โดยจะนับรวมอาหารพื้นเมืองที่มักซื้อเป็นของฝาก เช่น แหนมเนือง น้ำบูดู น้ำพริกหนุ่ม หรือ กล้วยเชื่อม ที่มีส่วนประกอบน้ำเกิน 100 มิลลิตรต่อชิ้นด้วย
นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยถึงกรณี สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ที่จะนำขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยานหรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นระเบียบฉบับใหม่ของ กพท. ที่เตรียมประกาศบังคับใช้ในวันนี้ (23 มิ.ย.62) โดยตามคำจำกัดความ เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ ที่จะนำขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยาน หรือ นำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2562 นั้น จะรวมไปถึงอาหารจำพวกที่มีของเหลว เช่น ต้ม แกง น้ำพริก น้ำจิ้มต่างๆ น้ำเครื่องดื่ม ซุป น้ำเชื่อม แยม สตูว์ ซอส น้ำพริก หรือ อาหารที่อยู่ในซอส ซึ่งแม้จะแค่ขลุกขลิกก็ไม่ได้ และยังรวมไปถึง มาสคารา ลิปสติก หรือ ลิปบาล์ม ที่มีปริมาตรมากกว่า100 มิลลิลิตร หรือ ไม่มีปริมาตรระบุข้างบรรจุภัณฑ์ แต่ถ้าจะถือขึ้นเครื่อง ต้องแยกใส่บรรจุภัณฑ์ ขนาดความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตรต่อชิ้น และรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร โดยกรมท่าอากาศยาน ได้ทำการซักซ้อมกับสนามบินภูมิภาค ทั้ง 28 สนามบินในกำกับดูแล ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลวฯ อย่างเข้มงวด โดยห้ามมิให้ผู้โดยสารนำของเหลวที่มีปริมาตรมากกว่า 100 มิลลิลิตร ถือติดตัวขึ้นเครื่องเด็ดขาด แต่อนุญาตให้ฝากเป็นสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่อง และต้องบรรจุในภาชนะที่มิดชิดได้เท่านั้น
ในส่วนนี้สำหรับของเหลวที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น น้ำจิ้ม แหนมเนือง หรืออื่นๆ ที่ผ่านมาได้มีการประสาน ทำความเข้าใจผู้ประกอบการ ที่มีการจำหน่ายเป็นสินค้าของฝากและนักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับก่อนเดินทาง ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าผู้ประกอบการได้เข้าใจและมีการปรับตัวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เช่นมีการแบ่งแยก ถุงน้ำจิ้มของเหลวเหล่านี้ ให้มีปริมาตรไม่เกิน 100 มิลลิลิตร และมีบรรจุภัณฑ์ ไม่เกิน 10 ถุง หรือ 1,000 มิลลิลิตร ก็นำติดตัวได้ นอกเหนือจากนั้นหรือมากกว่านี้ ต้องโหลดใต้เครื่องอากาศยานทั้งหมด
ทั้งนี้ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ระบุว่าการออกประกาศและเข้มงวดดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งจำเป็นต้องขอความเข้าใจร่วมมือ จากประชาชนผู้เดินทางทั้งหมด เพราะหากประเทศไทย ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ICAO ก็จะส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศได้
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการเข้มงวดตามประกาศของ กทพ . นี้ จะเข้มงวดทั้งในส่วนของท่าอากาศยานในกำกับดูแลของกรมท่าอากาศยาน 28 แห่ง และท่าอากาศยานในกำกับดูแล ของ บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (ทอท) ทั้ง 6 แห่ง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ .-สำนักข่าวไทย