กรุงเทพฯ 20 ส.ค. – คาดเม็ดเงิน กฟผ.ซื้อปาล์มผลิตไฟฟ้าอาจแตะ 4.5 พันล้านบาท เร่งเคลียร์ไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้า โดย กฟผ.ซื้อไปก่อนหน้านี้แล้ว 2.26 แสนตัน แต่สตอกซีพีโอยังสูงถึง 4.5 แสนตัน ด้านกรมธุรกิจพลังงานประชุมผู้ค้าน้ำมันเร่งรัดขายบี 10
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท.ไปพิจารณาแนวทางดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) แก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเร่งแผนใช้ไบโอดีเซล บี 10 และการรับซื้อซีพีโอ เพื่อนำไปป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งตามมติ ครม.เดิม กฟผ.ยังสามารถซื้อได้อีก 130,000 ตัน โดยหากรับซื้อเพิ่มเติมก็ต้องมีความชัดเจนว่างบการดำเนินการจะทำอย่างไร และต้องไม่กระทบค่าไฟฟ้า โดย กฟผ.แจ้งว่างบฯ ที่ใช้รวมการรับซื้อทั้งของเก่าและใหม่อาจจะต้องใช้เงินถึง 4,500 ล้านบาท
“กฟผ.จะรับซื้อซีพีโอรอบใหม่เมื่อไหร่นั้น ต้องรอให้ทางกระทรวงพาณิชย์ประเมินสถานการณ์และแจ้งมาอีกครั้ง ซึ่งปาล์มเป็นปัญหาของเกษตรกรที่รัฐบาลต้องดูแล ขณะเดียวกันต้องเคลียร์เรื่องงบฯ ในการจัดซื้อปาล์มให้ชัดเจนด้วย เพื่อไม่เป็นภาระแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ซึ่งเชื่อว่าจะมีทางออก” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.) ได้เรียกประชุมผู้ค้าน้ำมัน เพื่อเดินหน้าการประกาศใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทนบี 7 ในวันที่ 1 มกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม จะขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันทยอยขายบี 10 ให้เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ดังนั้น เมื่อใช้บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานและบี 20 และบี 7 เป็นน้ำมันทางเลือกแล้ว ก็คาดว่าจะสามารถดูดซับซีพีโอเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านตันต่อปี เป็น 2-2.3 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าราคขายปลีกน้ำมันอาจจะมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือ กบง.จะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้
ด้านกรมการค้าภายในรายงานสถานการณ์ราคาปาล์มระบุราคาเริ่มขยับดีขึ้นหลังภาครัฐประกาศนโยบายดูแล ทั้งการใช้ภาคพลังงงานและประกันรายได้ 4 บาทต่อกิโลกรัม และผลปาล์มดิบอออกสู่ตลาดมีปริมาณไม่มากนัก โดยผลปาล์มดิบอยู่ที่ประมาณ 2.50-3.00 บาทต่อกิโลกรัม ราคาซีพีโอ อยู่ที่ประมาณ 16.00-16.25 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สตอกซีพีโอ จนถึงปลายเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ประมาณ 451,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับปลายเดือนมิถุนายน 2562
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กฟผ.ได้รายงานว่ายังมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการในการจัดซื้อซีพีโอที่เหลืออีก 130,000 ตัน (ตามมติ ครม.ให้รับซื้อเพิ่มเติมรอบ 2 รวม 200,000 ตัน ) ทำให้ กฟผ.จะมีภาระจ่ายเงินส่วนนี้อีกประมาณ 2,500 ล้านบาท จากที่รับซื้อซีพีโอไปก่อนหน้านี้ รวม 226,250 ตัน มีภาระแล้วอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นภาระทั้งหมด 4,500 ล้านบาท แม้ว่าในส่วนนี้ภาครัฐจะสนับสนุนเงินจากกองทุนส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ 525 ล้านบาท รวมกับการงบประมาณรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) ของ กฟผ.ก็ยังไม่เพียงพอ
ดังนั้น การรับซื้อซีพีโอ ในล็อตที่เหลือเพิ่มเติม กฟผ.จึงขอความชัดเจนในการจัดหางบประมาณมาดูแล โดย รมว.พลังงาน มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาวิธีดำเนินการ เช่น งบฯ จากกองทุนส่งเสริมการส่งออก การหารือกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ถึงการจัดทำงบฯ PSA และให้ประสานกับคณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการคำนวนอัตราค่าไฟฟ้าที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งเดิมวิธีเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะถูกสั่งเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีราคาต้นทุนต่ำสุดไปยังราคาต้นทุนสูงสุด (ระบบ Merit Order) ก็อาจปรับไปใช้วิธีสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าบางปะกงขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแนวทางสั่งเป็นรูปแบบโรงไฟฟ้าประเภทที่จำเป็นต้องเดินเครื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ (ระบบ Must Run) ซึ่งต้องดูว่าต้องไม่กระทบค่าไฟฟ้าต่อประชาชน. -สำนักข่าวไทย