ภูเก็ต 18 ส.ค.-สำหรับยามีล พะยูนเพศผู้ที่พลัดหลงจากแม่และถูกนำตัวมาอนุบาล ยังศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล เจ้าหน้าที่วางแผนย้ายไปบ่ออนุบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และจะดูแลไปจนถึงอายุ 2 ขวบ จึงจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวถึง ภาพรวมการดูแลพะยูนน้อยเพศผู้ยามีล ที่พลัดหลงจากแม่ และถูกนำตัวมาอนุบาล ยังศูนย์วิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันที่จังหวัดภูเก็ตว่า ขณะนี้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ดีสามารถกินนมและหญ้าทะเลได้มาก เติบโตตามช่วงวัยอายุ น้ำหนักตัวอยู่ที่ 30 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เตรียมเคลื่อนย้ายยามีลไปอนุบาลยังบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม 6×6 เมตร เป็น 10×20 เมตร โดยมีทีมสัตวแพทย์เจ้าหน้าที่จิตอาสา รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารจากทัพเรือภาคที่ 3 สลับสับเปลี่ยน คอยดูแลยามีลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม จากการตายของมาเรียม ทำให้เจ้าหน้าที่มีบทเรียนในการดูแลลูกพะยูนที่ยังไม่โตเต็มวัย โดยยามีลมีแผนในการดูแลในบ่ออนุบาลไปจนครบอายุราว 2 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงที่ลูกพะยูนโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ จึงจะนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติ ในระหว่างที่อยู่ในบ่ออนุบาล ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จะพยายามให้ยามีนเรียนรู้การปรับตัวเสมือน การใช้ชีวิตอยู่ในทะเลให้มากที่สุด
ด้าน รศ.สัตวแพทย์หญิงดร.นันทริกา ซันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงกรณีการอนุบาลมาเรียมในระบบเปิดตามธรรมชาติ และการตายของมาเรียม เกิดประโยชน์อย่างมากต่อทางวิชาการและการแพทย์ด้านสัตว์น้ำ เพราะบางทีธรรมชาติก็ไม่ได้สวยงามหรือดีอย่างที่เราคิด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีพวกมลภาวะ และขยะต่าง ๆ มากมายในทะเล และจะส่งต่อไปถึงการดูแลยามีลหลังจากนี้ ที่อยู่ในสภาพพื้นที่ที่ปกป้องอยู่แล้วแตกต่างจากมาเรียมมาก ที่จะต้องทำตอนนี้ คือปรับยามีลให้ไปอยู่ในพื้นที่กว้างขึ้น เพื่อให้สบายขึ้น หวังว่าน่าจะยังไม่มีปัญหา ส่วนในเรื่องที่จะนำยามีลไปเลี้ยงตามแนวทางตามธรรมชาติตามที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้เดิม คงต้องให้ยามีลเลิกนมก่อน จากนั้นอาจต้องลองเอาไปปล่อยในธรรมชาติดูก่อน ถ้ายามีลดูแลตัวเองได้ ก็ปล่อยไป แต่ถ้าดูแลตัวเองไม่ได้ก็จะต้องเอากลับมาอยู่ในอควาเรียม เหมือนในต่างประเทศหลายแห่ง .-สำนักข่าวไทย