กรุงเทพฯ 16 ส.ค. – มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้านหลักในระยะเร่งด่วน รวมเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบ 316,000 ล้านบาท มี 3 กลุ่มที่ให้การช่วยเหลือ ทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผู้มีรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะได้ค่าครองชีพเพิ่มเติม และกระตุ้นการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคต่างๆ ภายในประเทศ
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง มีการปรับลดดอกเบี้ยสำหรับลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นเวลา 1 ปี ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท ฟรีดอกเบี้ยปีแรก วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบภัยแล้ง รายละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตกับชาวนา ปีการผลิต 2562/2563 ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ 3 ล้านคน
ส่วนมาตรการเพิ่มค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย ทุกคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน คือ สิงหาคมและกันยายน รวมเงินเดิมที่จะได้รับเป็น 1,000 บาท ผู้สูงอายุถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน และเงินเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ถือบัตรฯ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี จะได้รับเดือนละ 300 บาท/คน รวม 2 เดือนเช่นกัน
สำหรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคในประเทศ เน้นไปที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเห็นชอบแจกเงิน 1,000 บาท ให้ใช้ท่องเที่ยวจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนา แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป้าหมายวางไว้ 10 ล้านคน และต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิผ่านแอปฯ ที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอเงินคืนได้อีก 15% ของค่าใช้จ่าย แต่วงเงินต้องไม่เกิน 30,000 บาท และยังเสนอยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจีนกับอินเดียเพิ่มเติม
ส่วนการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องจักรสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า เป็นเวลา 5 ปี รวมถึงช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยในมาตรการต่างๆ ผ่านกองทุนของรัฐบาล ทั้งจากธนาคารออมสินและกรุงไทย โดยมี บสย.ช่วยค้ำประกัน รวมถึงมาตรการสินเชื่อบ้าน จะปรับมาเป็นเงื่อนไขผ่อนปรน โดยมีธนาคารออมสิน และ ธอส. พร้อมปล่อยสินเชื่อ วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งหมดทั้งมวลจะต้องผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในสัปดาห์หน้า. – สำนักข่าวไทย