กรุงเทพฯ 16 ส.ค. – ผลสำรวจ Krungsri SME Index เผยผู้ประกอบการมองเศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังคงเติบโต
นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก Krungsri SME Index ใน 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในแดนบวก แต่ปรับลดลงมาที่ 14.30 จาก 20.23 ในไตรมาสที่แล้ว สะท้อนความเห็นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 จะคงยังเติบโต แม้จะอยู่ในอัตราที่ลดลง โดยภาพรวมผู้ประกอบการร้อยละ 42 มีความกังวลด้านภาวะเศรษฐกิจ ตามด้วยการเมือง ร้อยละ 15 และปัญหาแรงงาน ร้อยละ 6 ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 29 ระบุว่า ไม่มีความกังวล
ผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้ประกอบการในต่างจังหวัดมีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยล่าสุด น่าจะช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ SME และส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2562 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะช่วยหนุนการเติบโตของการใช้จ่ายภายในประเทศ แม้ปัญหาภัยแล้งอาจกดดันรายได้ภาคเกษตร แต่นโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐจะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ขณะที่การปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจาก “มีเสถียรภาพ” สู่ “เชิงบวก” จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐอาจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง รวมทั้งความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบการลงทุนใหม่ของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 แม้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวไตรมาส 3 เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน แต่คาดว่าการส่งออกไทยอาจปรับตัวดีขึ้นไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผนวกกับผลบวกจากการทดแทนการส่งออกของสหรัฐ-จีน และผลจากการย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศไทยในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า
นอกจากนี้ กรุงศรีได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั่วประเทศเดือนมิถุนายน 2562 ได้สอบถามเรื่องความเข้าใจของผู้ประกอบการ SME ในเรื่องการกู้ยืมระหว่างบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ (P2P lending) พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ทุกขนาดและทุกอุตสาหกรรมร้อยละ 89 ยังไม่รู้จักและขาดความเข้าใจใน P2P lending ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 42 มีความสนใจขอกู้เงินผ่าน P2P โดยมีเหตุผลหลัก คือ ต้องการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความสะดวกสบาย เพราะสามารถทำการกู้ผ่านออนไลน์ได้ทันที และอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าเดิม ตามลำดับ และเมื่อสอบถามถึงความสนใจในการปล่อยกู้ผ่าน P2P ผู้ประกอบการร้อยละ 73 ไม่สนใจ เนื่องจากความกังวลเรื่องความเสี่ยงสูงของผู้กู้ว่าจะเป็นหนี้เสีย และไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยของระบบและข้อมูล .-สำนักข่าวไทย