กรุงเทพฯ 7 ส.ค.- ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันกัญชาโดยไม่ผ่านการแนะนำจากแพทย์ จนมีอาการข้างเคียง ถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลแล้วหลายราย นโยบายปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์เริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่แพทย์บางกลุ่มเห็นว่า ควรดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ติดตามจากรายงานพิเศษ “ปลดล็อกกัญชา ติดล็อกกัญชา” วันนี้นำเสนอเป็นตอนสุดท้าย
นี่เป็นบันทึกการรักษาของคนไข้รายหนึ่ง ที่ถูกส่งตัวมาห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลกลางดึก หลังใช้น้ำมันกัญชาเพียง 1 หยด เพื่อให้หลับ แต่กลับเกิดอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
หัวหน้าห้องไอซียู โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่พฤษภาคมจนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยฉุกเฉินที่มารักษาอาการจากการใช้น้ำมันกัญชากว่า 20 คน ส่วนใหญ่มีอาการหลอน คลื่นไส้อาเจียน และแขนขาเกร็ง เพราะสาร THC ในกัญชามีฤทธิ์ต่อจิตประสาท
แพทย์พบข้อมูลว่า คนไข้ซื้อน้ำมันกัญชาทางอินเทอร์เน็ต อ้างรักษาไมเกรน พาร์กินสัน ซึมเศร้า และมะเร็ง ซึ่งมีความเสี่ยงอันตราย เพราะไม่ทราบแหล่งผลิต และไม่มีวิธีใช้ที่ถูกต้อง
แม้ในไทยจะมีการปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ทั้งแผนปัจจุบัน และแผนไทยที่ผ่านการอบรมจากสาธารณสุขเท่านั้น แต่ในช่วง 3 เดือนมานี้ กรมการแพทย์เก็บข้อมูลมีผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินแล้วมากกว่า 20 คน ส่วนที่เข้าโรงพยาบาลเอกชนคาดจะมีตัวเลขมากกว่านี้
แพทย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันเห็นว่า กระแสสังคมที่บางคนเชื่อว่ากัญชาเป็นยาวิเศษรักษาได้ทุกโรค นโยบายรัฐที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่การศึกษาวิจัยเรื่องกัญชาทางการแพทย์ยังไม่ชัดเจน อาจยากที่จะควบคุม เมื่อเดือนมีนาคม คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ หรือ INCB ออกรายงานประจำปีมีข้อความตอนหนึ่งว่า ในบางประเทศที่ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ต้องเผชิญกับปัญหาทางสาธารณสุข และสังคมหลายเรื่อง รัฐไม่สามารถควบคุมได้ และมีการลักลอบผลิตและจำหน่ายกัญชามากมาย
ในรายงานนั้นยังระบุว่า ในบางประเทศนอกจากการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ยังสามารถใช้กัญชาได้เสรี และใช้เพื่อสันทนาการ จนเป็นประตูสู่การเสพยาเสพติดชนิดอื่น บุคลากรทางการแพทย์จึงเสนอให้ภาครัฐดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือติดล็อกกัญชาให้เหมาะสม ศึกษาให้แน่ชัด เช่น ในแพทย์แผนปัจจุบัน ต้องวิจัยหลายขั้นตอน จนพิสูจน์ว่ารักษาโรคได้จริง หรือในระหว่างที่ผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค เช่น ลมชักในเด็ก กล้ามเนื้อแข็งจากระบบประสาท และผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด และปวดเรื้อรัง ต้องการใช้น้ำมันกัญชา ก็เสนอให้ทำในระบบปิด คือ คัดกรอง เก็บข้อมูลผู้รับน้ำมันกัญชาจากรัฐ และติดตามผลในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน โดยทำแบบบูรณาการทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ.-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ปลดล็อกกัญชา ติดล็อกกัญชา ตอน 1
- ปลดล็อกกัญชา ติดล็อกกัญชา ตอน 2
- รมว.สธ.รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชาTHC 4,500 ขวดจาก อภ.