กรุงเทพฯ 7 ส.ค. – “อมรเทพ” ประเมินแบงก์ชาติเปิดประตูดอกเบี้ยขาลง กระโจนเข้าสู่สงครามค่าเงินในภูมิภาค
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า รอบนี้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.75 เหลือ 1.50 นับว่าเหนือความคาดหมายที่ลดเร็วกว่าคาดการณ์ ก่อนหน้านี้มองว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย แต่น่าจะลดปลายปี และไม่ได้มีการส่งสัญญาณก่อนหน้า โดยให้เหตุผลว่ามาจากความเสี่ยงที่มากขึ้นและจากเศรษฐกิจที่ชะลอ
สำหรับเหตุผลของการลดดอกเบี้ยมี 3 เหตุผลหลัก ๆ ก่อนหน้านี้เคยพูดไว้ว่าแบงก์ชาติมีความอดทนสูง 3 ด้าน วันนี้แบงก์ชาติน่าจะมีความอดทนน้อยลงใน 3 ด้าน หรือไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ได้แก่ 1.ไม่ทนต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่ำกว่าคาด เชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะโตต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้า ซึ่งธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าจะโตร้อยละ 2.5 ที่น่าจับตามองต่อไป คือ สงครามการค้าทวีความรุนแรงมากน่าจะสะท้อนว่าเศรษฐกิจในอนาคตไม่ดี ตรงนี้น่าจะเป็นจุดพลิกผันที่ว่าแบงก์ชาติไม่ทนต่อไปแล้วกับเศรษฐกิจที่จะชะลอ การส่งออกคาดว่าจะย่ำแย่ต่อเนื่องแล้วก็ลามมาสู่เศรษฐกิจในประเทศไทย
2. แบงก์ชาติไม่ทนต่อเงินเฟ้อต่ำ เพราะเงินเฟ้อเดือนล่าสุดหลุดกรอบล่างที่ร้อยละ 1 อีกแล้ว และก็มองต่อไปข้างหน้าราคาพลังงานที่ลดลง กำลังซื้อเองอาจจะไม่ค่อยมีมากนัก อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่แบงก์ชาติอาจจะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้ ประเด็นที่ 3 ที่แบงก์ชาติไม่ทนต่อไปแล้วสำหรับบาทที่แข็งค่า วันนี้ค่าบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง แม้ว่าส่งออกจะย่ำแย่แต่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ที่สำคัญก็คือเมื่อจีนชะลอ แต่เราไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนหรือผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือภาคการส่งออกมากนัก ทำให้บาทเองเป็นที่พักของนักลงทุนต่างชาติ เงินบาทแข็งค่าแรงแล้วกระทบความสามารถในการแข่งขันผู้ส่งออก
“เชื่อว่าวันนี้เป็นการประกาศสงครามค่าเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่เราเองต้องกระโจนเข้ามาหลังจากที่วันนี้เองแบงก์ชาตินิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติอินเดียก็ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติของไทยก็ต้องเข้ามาร่วมวงด้วยเป็นการเข้ามาพร้อมกันทีเดียวในภูมิภาคนี้ เพื่อเปิดศึกสงคราม ที่สำคัญ คือ เพื่อดึงให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ให้ชะลอมากไปกว่านี้ แต่วันนี้ต้องมองต่อแบงก์ชาติเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยไปเดือนธันวาคม แล้วกลับมาลดเหลือร้อยละ 1.50 อยากให้เราถามคำถามแบงก์ชาติ 2 ข้อ 1.แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อไหม ลดต่อในปีนี้หรือปีหน้า 2. สิ่งที่แบงก์ชาติกังวลไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพ เศรษฐกิจเรื่องของหนี้ครัวเรือนสูง คนลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัว แบงก์ชาติยังห่วงอยู่ไหม ผมว่า 2 คำถามนี้เป็นคำถามที่ต้องตีให้แตกและมองต่อ” นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวว่า เชื่อว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อ และจะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก จีดีพีไตรมาส 2 ที่จะรายงานกลางเดือนนี้ ถ้าออกมาแย่ เป็นไปได้ที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งกันยายนนี้ หรืออาจจะรอต่อไป คือ รอจีดีพีไตรมาส 3 ที่จะรายงานเดือนพฤศจิกายนแล้วลดดอกเบี้ยอีกครั้งเดือนธันวาคมก็ยังไม่สาย
คำถาม 2 เชื่อว่าความกังวลของแบงก์ชาติยังมีอยู่ สำหรับเรื่องดอกเบี้ยที่ลดลงแล้วจะกระทบกับหนี้ครัวเรือนที่สูง กระทบต่อเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน แล้วที่สำคัญเขาห่วงเรื่อง policy space ว่าถ้าเกิดวิกฤติในอนาคตแบงก์ชาติจะไม่เหลือเครื่องมือใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองต้องจับตาดูว่าแบงก์ชาติอาจจะใช้เครื่องมืออื่นนอกจากดอกเบี้ย เพื่อประคองเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน ออกมาตรการ LTV ไปแล้ว อาจจะดูเรื่อง DSR เกณฑ์วัดการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้า เป็นปัจจัยที่น่าติดตามกันต่อไป
“การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ คงเหมือนการที่แบงก์ชาติไม่ขอทนต่อไปแล้วสำหรับสงครามการค้าที่ลามมาสู่สงครามค่าเงิน ที่ไทยเป็นเหยื่อของภาคการส่งออกที่ย่ำแย่ และจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่การลดดอกเบี้ยนี้คงมีผลไม่มากที่จะทำให้สินเชื่อเติบโตจนพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะทาง ธปท.คงห่วงเรื่องเสถียรภาพตลาดเงินและยังไม่หย่อนเกณฑ์กำกับธนาคารพาณิชย์ จึงหวังว่าทางรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น และกระจายตัวไปสู่ระดับ SME และฐานรากของประเทศ” นายอมรเทพ กล่าว
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า หลังจาก กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 1.50 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนลงค่าอย่างรวดเร็วแตะระดับ 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่กลับมาซื้อขายประมาณ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทยังคงแข็งค่ามากกว่าร้อยละ 5 และเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากกว่าสกุลอื่น ๆ ในเอเชีย โดยทางคณะกรรมการ กนง.จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย