นนทุบรี 6 ส.ค. – พาณิชย์เตรียมรับฟังความเห็นฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู หลังหยุดชะงักตั้งแต่ปี 2557 นัดแรก 14 ส.ค.นี้ พร้อมให้ไอเอฟดีศึกษาผลดีผลเสีย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากรับนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งขยายความร่วมมือทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) กรมฯ จึงเตรียมจัดประชุมหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาชน เพื่อรับฟังความเห็นต่อการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เช่น ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเจรจา ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเตรียมความพร้อมรับมือหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น เบื้องต้นเตรียมจัด 4 ครั้ง เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2562 ซึ่งจะหารือตามกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งกลุ่มภาคเอกชน สมาคมธุรกิจและผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาชน และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น โดยกรมฯ กำหนดจัดรับฟังความเห็นครั้งแรกกับกลุ่มภาคเอกชน วันที่ 14 สิงหาคม 2562 ณ กระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ตลอดจนสำรวจความเห็นจากประชากรกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ โดยกำหนดเสร็จปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะรวบรวมผลการศึกษา การจัดรับฟังความเห็น และการตอบแบบสำรวจของประชากรกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศเสนอรัฐบาล เพื่อประกอบการตัดสินใจฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และกำหนดท่าทีการเจรจาอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ ปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปอียูมูลค่า 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียูมูลค่า 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 5.1 และ 8.1 ตามลำดับ สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทย-อียู มีมูลค่า 21,908 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอียูมูลค่า 12,060 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 9,817 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาไทย ซึ่งมีมูลค่า 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ.-สำนักข่าวไทย