ทำเนียบรัฐบาลฯ 5 ส.ค. – บอร์ดอีอีซีเห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เตรียมชง ครม.อนุมัติ จากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองจะจัดทำผังเมืองของชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตาม พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ พ.ย.นี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพอ. ครั้งที่ 8/2562 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า กพอ.เห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค คลอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้วางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตในระยะ 20 ปี ช่วงปี 2560 – 2580 มีพื้นที่ 8,291,250 ไร่ โดยปี 2560 มีประชากร 4,015,168 คน และคาดว่าปี 2580 จะเพิ่มเป็น 6,006,380 คน
สำหรับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ได้แก่ 1. พื้นที่พัฒนาเมือง 2. พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 3. พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และ 4. พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อน จากนั้นกรมฯ จะดำเนินการจัดทำผังเมืองของชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตาม พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการด้านกฎหมายจะเร็วขึ้นคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ตามร่างผังเมืองใหม่นี้จะทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดิม มีพื้นที่รวม 45,000 ไร่ เป็น 70,000 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 26,000 ไร่ เช่น นิคมอุตสาหกรรม 304 ที่มีอยู่เดิมขอขยายพื้นที่ จึงเพิ่มให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกัน เพื่อการดูแลที่เป็นระบบ
ทั้งนี้ การทำผังเมืองอีอีซีครั้งนี้กระทบภาคเกษตรไม่มาก พื้นที่เกษตรลดลงประมาณร้อยละ 8 แต่จะเพิ่มเป็นพื้นที่เมืองร้อยละ 3 พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มร้อยละ 2 ส่วนพื้นที่อีกร้อยละ 3 กันเป็นพื้นที่รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น บริเวณริมแม่น้ำ ริมทะเล ริมอ่างเก็บน้ำ กันพื้นที่ประมาณ 500 เมตร 2 ฝั่งเอาไว้ พื้นที่เกษตรชั้นดีมีระบบชลประทานยังคงอยู่ทั้งหมด ส่วนพื้นที่ทำการเกษตรไม่ดีได้เปลี่ยนพื้นที่เป็นเมือง ซึ่งสามารถทำประโยชน์อื่นได้ดีกว่า
นอกจากนี้ กพอ.ยังพิจารณาและรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น ความก้าวหน้าการพัฒนาอีอีซี ส่วนแนวทางการดำเนินงานต่อไป เพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้อีอีซีก้าวสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย แบ่งเป็น 4 นโยบายหลัก คือ เร่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี โดยเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท/ปี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการให้บริการ One Stop Service โดย EEC OSS จะเปิดตัวปลายเดือนสิงหาคม เป็นต้น .- สำนักข่าวไทย