กรุงเทพฯ 30 ก.ค. – 4 สมาคมมันสำปะหลัง เร่งรัฐควบคุมโรคใบด่าง หลังระบาด 8 จังหวัด เกือบ 20,000 ไร่
นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ได้ร่วมกับสมาคมการค้ามันสำปะหลัง สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอปัญหาการผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งเรื่องเร่งด่วน คือ การควบคุมการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ขณะนี้ทั้ง 4 สมาคมได้แจ้งเตือนพื้นที่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ขอความร่วมมือไม่ซื้อ-ไม่ขายต้นพันธุ์จาก 8 จังหวัด คือ สระแก้วทุกอำเภอ, นครราชสีมา ได้แก่ อำเภอเสิงสาง ครบุรี หนองบุญมาก ปักธงชัย และจักราช, บุรีรัมย์ อำเภอบ้านกรวด ปะคำ โนนสุวรรณ และละหานทราย, สุรินทร์ ได้แก่ อำเภอบัวเชด กาบเชิง พนมดงรัก และสังขละ, ศรีสะเกษ อำเภอกันทรลักษณ์ ขุนหาญ และภูสิงห์, อุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอน้ำยืนและน้ำขุ่น, ปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอศรีมหาโพธิและกบินทร์บุรี, ฉะเชิงเทรา ได้แก่ อำเภอสนามชัยเขต รวมพื้นที่ระบาดเกือบ 20,000 ไร่ เพราะเกรงโรคจะลุกลามไปทั่วประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกกว่า 8.9 ล้านไร่
นอกจากนี้ ยังร่วมกับมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยผลิตท่อนพันธุ์ KU 50 ซึ่งมีงานวิจัยในกัมพูชาซึ่งเกิดการระบาดอย่างเป็นวงกว้างก่อนหน้าที่จะแพร่มาไทยพบว่ามีความทนทานต่อโรค การติดโรคน้อยกว่าพันธุ์ CMR 89 ที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยม เนื่องจากให้หัวใหญ่ แต่เชื้อแป้งต่ำ ทั้งนี้ เห็นว่าสถานการณ์ของโรคเลยขั้นที่จะไม่ให้เกิดการระบาดได้แล้ว ดังนั้น แนวทางแก้ไขที่สำคัญ คือ เร่งผลิตท่อนพันธุ์ทนทานต่อโรคให้ได้ปริมาณมาก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทดแทนเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคและให้ผลผลิตดี หากรีบดำเนินการคาดว่าจะมีพันธุ์เหมาะสมใช้ได้ภายใน 2-3 ปี นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องให้ความรู้เกษตรกรในการใช้สารกำจัดแมลงหวี่ขาวอย่างถูกต้องเนื่องจากหากใช้สารเคมีชนิดเดิมซ้ำ ๆ แมลงหวี่ขาวจะดื้อ จึงต้องสลับใช้สารที่กำจัดแมลงหลายชนิดและปริมาณที่เหมาะสม หากใช้มากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง รวมถึงสามารถใช้สารชีวพันธุ์พวกเชื้อราบิววาเรียร่วมด้วยได้
สำหรับข้อเรียกร้องสำคัญ คือ การกำหนดมาตรการชดเชยแก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ที่ผ่านมาแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) มีมติเห็นชอบอนุมัติวงเงินงบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบกิโลกรัมละ 1 บาท รายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ เพิ่มจากเดิม 1,140 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 30 ไร่นั้น อีกทั้งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบการดำเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวและสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่ยังไม่มีการจ่ายให้เกษตรกรแต่อย่างใด ทั้งนี้ การจ่ายค่าชดเชยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เกษตรกรร่วมมือแจ้งการเกิดโรคและยินยอมให้ทำลายต้นมันและแปลงมัน เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโรคและความเสียหายของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรยังกังวลว่า จะขาดทุนจึงไม่แจ้งโรค รวมทั้งส่วนใหญ่ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าทำลายแปลง โดยปิดบัง เพราะคาดหวังว่า แม้จะมีต้นที่ติดโรค แต่อาจยังมีผลผลิตมันเหลือให้ได้จำหน่ายบ้าง จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ ผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขโดยด่วนที่สุด หากระบาดทั่วประเทศจะกระทบต่อรายได้กว่า 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากไนจีเรีย โดยผลิตในประเทศ 30 ล้านตัน และนำเข้าจากลาวและกัมพูชา 10 ล้านตัน เพื่อแปรรูปเป็นแป้งมัน มันเส้น มันอัดเม็ด และเอทานอล
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การควบคุมโรคระบาดในพืชและสัตว์เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการ ขณะนี้ได้สั่งให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาว่าสามารถใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยประกาศเขตควบคุมศัตรูพืชตาม พ.ร.บ.กักพืช มาตรา 17 และ 18 ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดนำพืช ศัตรูพืช หรือพาหะออกไปนอกหรือนำเข้าในเขตควบคุมศัตรูพืชได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังเร่งให้ผลิตท่อนพันธุ์สะอาดและส่งเสริมการปลูกด้วยพันธุ์ ซึ่งมีงานวิจัยรับรองว่าทนทานต่อเชื้อไวรัส Sri Lankan Cassava Mosaic Virus รวมทั้งกำจัดแมลงหวี่ขาว Bemisia tabaci ที่เป็นพาหะ
ทั้งนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าพบการเกิดโรคใบด่างมันสำปะหลังในไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ร่วมทำงานกับสมาคมฯ ยับยั้งการระบาด แต่เนื่องจากเป็นโรคระบาดร้ายแรงจึงควบคุมได้ยาก อีกทั้งแมลงพาหะยังมีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น สบู่ดำ ละหุ่ง พืชตระกูลถั่ว และพืชวงศ์ Euphorbiaceae เมื่อเพาะปลูกมันรอบใหม่ก็จะกลับมาทำลายต้นมันอีก ส่วนการกำจัดโรคต้องถอนเผาทำลายแปลงมันสำปะหลังที่พบโรค ที่ผ่านมาสำรวจโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบทุกต้นในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดที่พบโรค รวมทั้งพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบบนพืชอาศัยที่อยู่ในบริเวณพื้นที่พบการระบาด โดยทำลายไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ ขณะนี้ได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาตรวจสอบการนำเข้ามันสำปะหลังอย่างเข้มงวดที่สุด.-สำนักข่าวไทย