กทม. 29 ก.ค.-กรณีอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ซิ่งด้วยความเร็วสูงจนทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนน พบยอดผู้เสียชีวิตจากรถที่ใช้ความเร็วสูงเพิ่มขึ้น 2 เท่า ขณะที่การทำใบขับขี่เฉพาะรถความเร็วในลักษณะนี้ยังไม่คืบหน้าแม้ผ่านมติ ครม.
เหตุการณ์สูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน จากรถบิ๊กไบค์พลิกคว่ำหรือพุ่งชนคน ครูสันติขับและสอนขับรถมากว่า 25 ปี มองว่าปัจจัยสำคัญมาจากผู้ขับขี่ที่ควบคุมความเร็วไม่อยู่ แม้ไม่ได้ตั้งใจ แต่เพราะความประมาทที่ขาดทักษะฝึกใช้หรือควบคุมรถ บางคนชอบเร็วแต่ไร้ความรับผิดชอบ ปล่อยครัชได้ก็ขับออกถนน ทั้งที่ในเมืองไม่เหมาะกับการใช้ความเร็ว
ย้ำกฎระเบียบดีอยู่แล้ว แต่ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถนนไม่จำเป็นต้องออกแบบให้บิ๊กไบค์โดยเฉพาะ เพราะไม่ว่าจะขับรถประเภทใดหรือรถจะมีข้อจำกัดอย่างใด สำคัญที่สุดคือทักษะของผู้ขับขี่ที่ต้องฝึกให้เชี่ยวชาญเเละมีจิตสำนึก เชื่อใบขับขี่เฉพาะจำเป็น ต้องฝึกให้รู้ก่อนใช้รถจริง
ด้านศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เผยเขตเมืองห้ามขับรถที่มีความเร็วสูง เพราะการออกแบบถนนไม่รองรับ มีตรอกซอย อุโมงค์ สะพาน และคนใช้ถนน พฤติกรรมคนขับส่วนใหญ่มักขับเลนขวา ทำให้มองไม่เห็นคนข้าม อย่างกรณีน้องลิ้นจี่และใบหม่อนเสียชีวิต ขณะที่ความเร็วในเมืองกำหนดไม่ควรเกิน 50 กม./ชม. หากเกินจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต
สิ่งที่น่ากังวล ยอดขายบิ๊กไบค์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ปีที่เเล้วมีกว่า 30,000 คัน รวมในไทยพบ 200,000 คัน แต่สถิติการเสียชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 250 ซีซีขึ้นไป ปี 59 สูงถึง 285 คน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากปี 57 แนะคนขายเตรียมความพร้อมประเมินว่าคนซื้อมีความเชี่ยวชาญมากพอ กำหนดอายุเริ่ม 21 ปี จากเดิม 18 ปี เพราะการตัดสินใจไม่ดีพอ ต้องมีมาตรการตรวจจับความเร็ว ทำสัญลักษณ์จราจรเตือนให้คนรับรู้มากขึ้น ที่สำคัญคนขับรถที่มีความเร็วเกิน 250 ซีซี ต้องสอบใบขับขี่เฉพาะ
นอกจากเร่งรัดการทำใบขับขี่แล้ว นักวิชาการมองด้วยว่ายังต้องทบทวนการสร้างอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัย เพราะอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์มากถึงร้อยละ 80 และย้ำว่าถึงแม้ถนนในเมืองโล่งก็ไม่ควรขับเร็ว หากอยากขับเร็วควรไปขับในสนามเเข่งที่ทำมารองรับเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย