กรุงเทพฯ 27 ก.ค. – นักวิชาการ ให้คะแนนแถลงนโยบายของรัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์” สอบผ่าน พร้อมเสนอทบทวนนโยบาย “ขึ้นค่าแรง” ประเมินรัฐจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค พยุงเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้มุมมองต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ช่วง 2 วันที่ผ่านมา ว่า ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ทางฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ ซักฟอก ”ชำแหละ”นโยบาย ทำหน้าที่ของตนในเชิงคัดค้านตามมุมมองของแต่ละคน ขณะที่รัฐบาลก็เสนอแนวนโยบายของรัฐ แม้บางช่วงอาจบ้างเหตุการณ์มองว่า”แลกหมัดกัน” ซึ่งดูจาก แนวนโยบาย 12 ข้อ ครอบคลุมทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ที่รัฐบาลต้องการให้ตอบโจทย์ระยะสั้นและระยะยาว เชื่อว่าจากนี้ภาครัฐจะเร่งรัดตามยุทธศาสตร์ โดยเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการทำหน้าที่ของ ส.ส. โดยภาพรวมถือว่าสอบผ่าน ตนให้คะแนน 7 เต็ม 10 คะแนน
ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงนั้น หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จากเดิม 325 บาท หรือมีการปรับค่าแรงขึ้นวันละ 75 บาท เฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเดือนละเกือบ 2,000 บาท ซึ่งหากคำนวณจากฐานผู้ใช้แรงงานรายวันประมาณ 10 ล้านคน ดังนั้น ค่าจ้างที่เอกชนต้องจ่ายเพิ่มเกือบ 20,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจัยแวดล้อมขณะนี้ยังไม่เอื้อให้การปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด
“หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน จะเป็นการบิดเบือนโครงสร้างต้นทุนครั้งใหญ่ ทั้งเอกชนและระบบเศรษฐกิจจะเกิดภาวะช็อก การดึงเงินจากกระเป๋าเอกชน 200,000 ล้านบาท/ปี หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการเพิ่มรายได้แรงงาน จะได้ไม่คุ้มเท่ากับรัฐใช้เงินภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่าแรงที่ปรับขึ้นสูงอย่างรวดเร็วเกินไปในระยะยาวจะเป็นการกดดันทั้งรายได้เอกชน รายได้ผู้ใช้แรงงาน การลงทุน และระบบเศรษฐกิจ”นายธนวรรธน์กล่าว
ดังนั้น รัฐบาลควรระมัดระวัง และทยอยปรับขึ้นค่าแรง แบบขั้นบันไดเหมือนประเทศอื่นๆ โดยหากย้อนไปปี 2555 มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากวันละกว่า 200 บาท เป็น 300 บาท พบว่าปี 2556 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง ร้อยละ2 และเงินเฟ้อที่วัดจากค่าใช้จ่าย ลดลงจาก ร้อยละ3 เหลือ ร้อยละ 2
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลที่แถลงในวันที่ 25 – 26 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศ เพราะยังเป็นภาพรวม ต้องติดตามหลังจากนี้ว่าจะมีรายละเอียดแต่ละมาตรการเป็นอย่างไร และจะมีมาตรการเร่งด่วนในด้านไหน โดยคาดว่ามาตรการที่จะออกมาก่อน คือ การกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากเห็นผลได้เร็วและง่ายที่สุด ซึ่งกลุ่มค้าปลีก อาหาร และท่องเที่ยว จะได้รับประโยชน์มากที่สุด . – สำนักข่าวไทย