กทม.25ก.ค.-ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ย้ำอีกครั้ง TOR โรงงานเตาเผาขยะหมื่นล้าน เป็นไปตามกฎหมายใหม่ อาจเกิดการเข้าใจผิดได้
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ เข้าไปภายในซอยอ่อนนุช 86 ซึ่งเป็นสถานที่ ที่ใช้เตรียมก่อสร้างโรงงานเตาเผาขยะขนาด1,000 ตันต่อวัน พบว่าลักษณะเป็นพื้นที่ป่าละเมาะ เนื้อที่ประมาณ 30ไร่ ซึ่งภายในพื้นที่มีโรงเผาขยะที่ในอดีตเคยใช้ภายในพื้นที่ กทม.ตั้งทิ้งไว้อยู่มานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี
สอบถามเจ้าหน้าที่ภายในโรงงานกำจัดขยะอ่อนนุช ให้ข้อมูลว่าพื้นที่ดัง กล่าว กทม.เตรียมไว้ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงงานเตาเผาขยะ มีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เช่นเดียวกับเขตหนองเเขมที่เตรียมไว้ไนสัดส่วนเท่ากัน โดยในพื้นที่อ่อนนุชจะเป็นจุดที่ขยะจากทั่วกรุงเทพฯ ที่มีประมาณ 9,000 ตันต่อวัน เกินกว่าครึ่งที่เก็บได้ในแต่ละวัน ถูกนำมาพักวางไว้ที่นี่หรือประมาณวันละ 4,000-5,000 ตัน ก่อนจะให้เอกชนที่ กทม.ว่าจ้าง นำไปฝังกลบที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
เจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่าถ้าหากในพื้นที่มีโรงเตาเผาขยะเกิดขึ้นจะทำให้ปริมาณขยะที่ค้างอยู่ในพื้นที่ลดลงได้พอสมควร แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพานำไปฝังกลบเพราะปริมาณขยะมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ข้อมูลโครงการเตาเผาขยะเตาเผาวันละ 1,000 ตัน ที่หนองแขมและอ่อนนุช ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการประกวดราคาจากผู้รับเหมาโครงการ โดยจะมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งการก่อสร้างและการบริหารจัดการขยะ ตามสัญญา 20 ปี เมื่อหมดสัญญาทรัพย์สินจะเป็นของ กทม.โดยจะว่าจ้างให้เอกชนดำเนิน การทำลายขยะด้วยวิธีการเผา ในราคาตันละไม่เกิน 900 บาท รวม 20 ปี ตามสัญญา จะมีมูลค่าถึง 13,140 ล้านบาทนั้น ซึ่งสังคมยังมีความคลางแคลงใจและเข้าใจผิดอยู่นั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าโครงการเตาเผาขยะทั้ง 2 เตาที่หนองแขมและอ่อนนุช เป็นไปตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย พ.ศ.2560 ตามมาตรา 34/1 ถือเป็นการมอบหมายให้เอกชนมาดำเนินการทำกิจการแทน กทม. ไม่ใช่ กทม.จ้างเอกชนมาก่อสร้าง หรือซื้อโรงงานมาติดตั้ง แต่มอบหมายให้เอกชนลงทุน ตั้งแต่ก่อสร้างติดตั้งเครื่องจักร รวมถึงบริหารจัดการระบบขยะ ในระยะ เวลากำหนด รวมถึงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 ซึ่งอ้างอิงมาจาก พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยที่ กทม.ไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง แต่ดำเนินการกฎหมายฉบับใหม่ทั้ง 2 ฉบับ
ส่วนใหญ่ทุกคนจะเข้าใจผิดว่า กทม.ไปทำการซื้ออุปกรณ์เองทั้งหมด แล้วให้เอกชนดำเนินการ ซึ่งจะมีราคาแพง หรือทำไมไม่ให้เอกชนรายที่เสนอราคาที่ต่ำสุดเข้ามาดำเนินการ ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้จัดซื้อ หรือจัดจ้าง แต่เป็นการมอบหมายให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน กทม.
ดังนั้น จำเป็นจะต้องมีเกณฑ์การให้คะแนนตามที่กำหนดไว้ เพื่อที่ กทม.จะได้มั่นใจที่สุดว่าเมื่อเข้ามาดำเนินการจะไม่สร้างปัญหา เกณฑ์คะแนนที่กำหนดนั้นมีหลายประเด็น เช่น เอกชนจะต้องมีเทคโนโลยี ประสบการณ์ และสถานะการเงินที่มั่นคง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกทม. ว่าการดำเนินการจะไม่เกิดผลกระทบและสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน เพราะบริเวณที่ตั้งอยู่ในเมือง ต้องมีผลงานต้องผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment หรือ EIA)และมีผลงานเป็นประเภทเดียวกับผู้ที่ว่าจ้าง เกณฑ์ทั้งหมด กทม.ได้นำไปกำหนดในทีโออาร์ ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการล็อกสเปกแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการว่าการกำหนดคุณสมบัติตามที่ กทม.กำหนดนั้น ถือเป็นการล็อกสเป็ค พร้อมชี้แจงไปทุกกรณีแล้ว ต่อผู้ร้องเรียนว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายใหม่ โดยยันยืนทุกรายเข้ามาเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนด
นายชาตรี กล่าวอีกว่า โครงการไม่ได้เอื้อใครส่วนเงินมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท เอกชนจะได้รับต้องขึ้นอยู่กับปริมาณขยะที่เอกชนกำจัดและนำ มาเบิกตามจริงกับ กทม. รวมถึงการขายไฟฟ้าจากขยะที่เผาไม่ไช่เซ็นสัญญาแล้วจะได้ทั้ง 13,000 ล้านบาทไปเลย โดยโครงการนี้เป็นแห่งแรกที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายใหม่ จึงอาจเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นมาได้.-สำนักข่าวไทย