ภูมิภาค 24 ก.ค.-สถานการณ์น้ำในอ่างก็บน้ำเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ยังน่าเป็นห่วง เหลือน้ำใช้ 40 วัน ส่วนชาวนาพิษณุโลกต้องดึงน้ำจากบึงขี้แร้งไปหล่อเลี้ยงนาข้าวทุกวัน
สถานการณ์น้ำในอ่างก็บน้ำเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ยังน่าเป็นห่วง นายอมร แก่นสารี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล 2 เปิดเผยว่า ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีน้ำต้นทุนอยู่ที่ 4,543.68 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33.75 ของความจุทั้งหมด แต่มีน้ำที่ใช้ได้จริงระบายได้ 743.68 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 7.70 ระบายน้ำเพื่อการเกษตรลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาวันนี้ (24 ก.ค.) จำนวน 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าช่วงนี้ระบายน้ำมาก เนื่องจากชาวนากำลังทำนา ข้าวกำลังอยู่ระหว่างตั้งท้อง ต้องการใช้น้ำมาก และเนื่องจากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝนทิ้งช่วง ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาต่ำ ทำให้ไม่มีน้ำไหลเข้าคลองชลประทานต่างๆ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลใช้ได้อีกเพียงประมาณ 40 วัน
จังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะที่อำเภอบางระกำ แม้สภาพโดยรวมยังไม่แล้งเต็มตัว แต่แหล่งน้ำทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแก้มลิงทั้ง 3 แห่ง ตามโครงการบางระกำโมเดล ที่แก้มลิงบึงระมาณ ความจุเก็บกัก 16 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกัก 5.61 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35.07 บึงตะเคร็ง ความจุเก็บกัก 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกัก 3.90 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30.45 และแก้มลิงบึงขี้แร้ง ความจุเก็บกัก 1.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บกัก 0.643 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36.96
นายลวน อินทร์หอม อายุ 60 ปี ชาวนาในตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ กล่าวว่า แหล่งน้ำทางธรรมชาติแห้งขอด ข้าวกำลังออกรวง ต้องดึงน้ำจากบึงขี้แร้งแห่งนี้ไปหล่อเลี้ยงนาข้าวทุกวัน ระยะทางในการดึงน้ำกว่า 1 กิโลเมตร ต้องลงทุนค่าน้ำมันนำน้ำเข้านา ขณะที่ราคาข้าวขายได้เพียง 6,400-6,500 บาทเท่านั้น
เช่นเดียวกับผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ในเขตตำบลหนองคู อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ต่างระดมเครื่องสูบน้ำขนาดต่างๆ ที่มีออกมาติดตั้งแย่งกันสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง จากลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่กำลังจะแห้งขอด เข้าหล่อเลี้ยงต้นข้าวของตนเอง
ส่วนที่จังหวัดนครพนม แม้มีฝนตกลงมาบางพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำฝนสะสมยังน้อย ทำให้ระดับน้ำโขงยังทรงตัว และยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำขั้นวิกฤติเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ล่าสุดยังอยู่ที่ระดับประมาณ 1.50 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งถึง 11 เมตร คือที่ประมาณ 13 เมตร ส่วนปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ ยังมีปริมาณน้อย แค่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากระดับน้ำโขงแห้ง ทำให้น้ำจากลำน้ำสาขาไหลระบายลงน้ำโขง โดยทางชลประทานจังหวัดนครพนมยังคงเร่งตรวจสอบ เก็บกักน้ำ งดการพร่องน้ำตามประตูระบายน้ำ ในลำน้ำสาขาทุกจุด เพื่อรับมือภัยแล้ง เนื่องจากพื้นที่นาข้าวหลายอำเภอเริ่มประสบปัญหาขาดน้ำยืนต้นตาย หากในช่วงสัปดาห์หน้าฝนทิ้งช่วงอีกจะส่งผลให้ เกิดความเสียหายมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย