กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – ดาว ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐ สถาบันการศึกษา หนุน SMEs สู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ดึงโรงงานนำร่องปรับธุรกิจด้วย IoT ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันพลาสติก จัดทำ โครงการ “”ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ปี 2562” เพื่อสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนในยุคอุตสาหกรรม 4.0
โครงการนี้จะเปิดรับสมัคร SMEs ที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วย IoT (Internet of Things) โดยมุ่งเน้นผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและอาหาร ด้วยการนำร่องปรับปรุงกระบวนการผลิต ทางโครงการจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินและวิเคราะห์เครื่องจักร ในโรงงาน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้เครื่องจักรในสายการผลิตรายงานคุณภาพของการทำงานได้อย่างเป็นระบบซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิต ให้คำแนะนำและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพนักงาน เพื่อสร้างและพัฒนาบุคคลากรให้เกิดความเชี่ยวชาญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานรวมประมาณ 7 เดือน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้จัดทำแนวทางการทำงานและเครื่องมือของแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 อีกด้วย
“ดาว ยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามีทั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พร้อมจะสนับสนุน ดาวจึงร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับ SMEs ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นปรับปรุงเครื่องจักร การนำของเสียจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ ไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน และสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักการ Circular Economy” นายฉัตรชัย กล่าว
สำหรับโครงการนี้ ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยตลอดการดำเนินงาน 7 ปีที่ผ่านมามี SMEs เข้าร่วมโครงการแล้ว 40 แห่ง ให้การอบรมเพื่อสร้างบุคลากรที่เข้าใจและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการแล้วประมาณ 6,000 คน ส่งผลเชิงบวกให้กับชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมอาทิ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 150,000 ต้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 144 ล้านบาทต่อปี และช่วยให้ชุมชนโดยรอบมีความเป็นอยู่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นกว่า 922,000 คน . – สำนักข่าวไทย