นครราชสีมา 22 ก.ค.- “เทวัญ” พร้อมชี้แจงกรณีการถือครองหุ้นสื่อ หากถูกอภิปรายในระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาล ย้ำไม่เคยประกอบธุรกิจสื่อ เป็นมรดกที่แม่ให้มา แต่โอนคืนกลับไปหมดแล้ว
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการแถลงนโยบายรัฐบาลที่จะมีขึ้นวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ว่า ตนได้รับเอกสารนโยบายรัฐบาลเมื่อวานนี้ ซึ่งจะเรียกประชุมพรรคชาติพัฒนา ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค.) เพื่อหารือว่าสมาชิกคนใดจะขออภิปรายบ้าง แต่เบื้องต้นมี นาย วัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา อาจจะขออภิปราย จะขอเวลาจากทางรัฐสภา
ส่วนกรณีที่จะถูกอภิปรายกรณีคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีการถือหุ้นสื่อนั้น นายเทวัญ กล่าวว่า ได้เตรียมเอกสารไว้ชี้แจงแล้ว หากมีการอภิปราย ซึ่งการจดทะเบียนการทำธุรกิจ เมื่อมีการจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์แล้ว แบบฟอร์มที่ให้กรอกจะเป็นแบบกว้าง ๆ และเป็นหุ้นที่แม่ให้มาซึ่งบริษัทนี้ไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับสื่อ เป็นการซื้อที่ดินมาประมาณ 30 ปีแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร ไม่มีอะไรแล้วไปดูในงบดุลได้ ทั้งรายรับรายจ่าย ซึ่งไม่ได้มีรายรับอะไรที่เกี่ยวกับโฆษณา หรือสื่อ หรือสิ่งพิมพ์ รายจ่ายก็ไม่มีลักษณะแบบนั้นเช่นกัน คือเป็นการเก็บที่ดินไว้เฉย ๆ และทุกวันนี้เมื่อคุณแม่เห็นข่าวดังกล่าวก็ร้องไห้ทุกครั้ง
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ขอขยายระยะเวลาชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ ออกไปประมาณ 20 วัน เพื่อเตรียมหลักฐานการเงิน งบดุลต่าง ๆ ในการประกอบกิจการดังกล่าวมาตลอด 30 ปี ซึ่งไม่มีสิ่งใดเกี่ยวพันกับสื่อเลย ไม่ว่าจะเป็นรายรับหรือรายจ่าย
นายเทวัญ ยังกล่าวถึงการที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถยื่นในส่วนของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้และหลังจากนั้นอีก 10กว่าวัน จะยื่นในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สาเหตุที่มีการยื่นบัญชี 2 ครั้ง เนื่องจากว่าในระหว่างการ เป็นส.ส.มีเรื่องหุ้นที่ยังเป็นปัญหา จึงโอนคืนให้กับมารดา ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกมนตรี เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการนำเงินไปใช้บางส่วนจึงทำให้รายรับรายจ่ายมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีจำนวนเงินที่น้อยลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ปฎิบัติภารกิจงานแรก เป็นประธานเปิดการรับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 โดยองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการประกาศสถานะแล้ว มีสิทธิ์เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 150 องค์กรและจะมีการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคซึ่งจะเป็นการทำงานคู่ขนานไปกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ.) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่รัฐบาลจะให้งบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็งสามารถร้องเรียนสิทธิต่าง ๆ ได้.-สำนักข่าวไทย