กรุงเทพฯ 20 ก.ค.-เกษตรกรหลายพื้นที่ “สุรินทร์-แพร่-พิจิตร” รวมตัวเรียกร้องแก้ปัญหา”ภัยแล้ง” จากฝนทิ้งช่วง
อธิบดีกรมชลประทาน เร่งประสานแก้ปัญหา ด่วน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า
ในขณะที้มีเกษตรกรหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจาก”ภัยแล้ง”ทางกรมฯได้เร่งแก้ไขปัญหาตามที่
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการ โดยในส่วนของจังหวัดแพร่ ที่ก่อนหน้านี้เกษตรกรร้องเรียนและระบุจะรวมตัวลงขันไร่ละ
100 บาทเป็นค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำลงคลองชลประทานเพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่นา พบว่า
พื้นที่ตำบลทุ่งแค้วเป็นพื้นที่ส่งน้ำฝั่งขวาของฝายแม่ยม
ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำยมแห้งมาก มีอัตราการไหลเพียง 0.36
ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้นจึงไม่สามารถไหลเข้าคลองส่งน้ำฝั่งขวาของฝายแม่ยมได้
พื้นที่เพาะปลูกจึงขาดน้ำ ทั้งนี้
จะเร่งสำรวจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่สามารถสูบน้ำได้และจัดรอบเวรการสูบน้ำจากแม่น้ำยมส่งให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำ
จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกมาช่วยเสริมในพื้นที่ แต่จะควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำยมไม่ให้ต่ำลงจนเกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของอำเภอสองด้วย
ส่วนความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกร ตำบลหนองโสนและตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม
จังหวัดพิจิตร ที่เรียกร้องขอให้เพิ่ม การส่งน้ำไปให้ถึงพื้นที่ปลายคลอง ซึ่งอยู่ไกลจากปากคลองที่รับน้ำจากแม่น้ำปิงมากถึง
120 กิโลเมตร ที่สำคัญเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกแผนการส่งน้ำฤดูฝนปี 2562 แต่สำนักงานโครงการชลประทานที่ 4ได้จัดสรรน้ำให้
ผ่านท่อระบายน้ำ (ทรบ.) ปากคลองส่งน้ำวังบัว
โดยรอรับน้ำจากแม่น้ำปิงที่ถูกแบ่งและส่งผ่านมาจากโครงการฯ ท่อทองแดง ซึ่งในระหว่างทางต้องไหลผ่านพื้นที่ชลประทานในเขตจังหวัดกำแพงเพชรกว่า
4 แสนไร่ ซึ่งดึงน้ำไปใช้ทำให้น้ำไม่สามารถส่งไปถึงพื้นที่ปลายคลองจึงทำให้นาข้าวหลายพันไร่เริ่มเสียหาย ล่าสุดทางชลประทานได้แก้ปัญหาโดยรับน้ำจากแม่น้ำปิงในอัตรา
50 ลบ.ม./วินาทีเพื่อส่งน้ำให้ไปถึงพื้นที่ตำบลหนองโสน และตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม
จังหวัดพิจิตร พร้อมกับขอรับการสนับสนุนปริมาณน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร
มายังพื้นที่ดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วยคาดว่า ปริมาณน้ำที่รับเพิ่มมากขึ้นจะไหลไปถึงพื้นที่เป้าหมายในวันนี้
ที่จังหวัดสุรินทร์
นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส. จังหวัดสุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย นำราษฎรประมาณ 1,000 คน เดินทางไปที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง
ในวันนี้ (20 ก.ค.62) พร้อมเครื่องมือเพื่อขุดลอกดิน ในอ่างเก็บน้ำให้สามารถมีพื้นที่กักเก็บน้ำอย่างเพียงพอ
ทางสำนักชลประทานที่ 8 ร่วมกับปลัดจังหวัดฯ
ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค รองผู้บังชาการกองกำลังสุรนารี เข้าร่วมหารือ และได้ข้อสรุปว่า
จะให้ความสำคัญ ช่วยเหลือน้ำอุปโภค-บริโภคเป็นลำดับแรก โดยความต้องการใช้น้ำประปามีวันละ
ประมาณ 33,000 ลูกบาศก์เมตรปัจจุบันมีแหล่งน้ำต้นทุน 2
แห่งได้แก่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงและอ่างน้ำตา
ซึ่งสามารถใช้น้ำได้จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม
นอกจากนี้ยังมีการหาแหล่งน้ำสำรองได้แก่
เหมืองหิน ซึ่งมีระยะทางห่างประมาณ 12
กิโลเมตรซึ่งต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทานและจากของป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด
เพื่อนำน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งเหมืองหินดังกล่าว
ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 20
ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนกรณีการเจาะบ่อบาดาลนั้น
การประปาส่วนภูมิภาคจะเจาะบ่อบาดาล ในพื้นที่ของการประปาเอง 3
บ่อก่อน จากการประเมินเบื้องต้น จะมีปริมาณน้ำ 10
ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อ 1 บ่อ รวมแล้วจะได้ปริมาณน้ำประมาณ 600
ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
อธิบดีกรมชลประทานย้ำว่า
โครงการชลประทานทั่วประเทศพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วง
แต่ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
ฝนจะกลับมาตกอีกครั้ง แม้แนวโน้มปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10
แต่หากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด
รักษากติกาตามแผนการจัดสรรน้ำจะสามารถส่งน้ำจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต
ที่สำคัญจะมีน้ำไว้ใช้อุปโภค-บริโภคตลอดฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 62
จนถึงวันที่ 30 เมษายน 63 อย่างแน่นอน–สำนักข่าวไทย