เพชรบูรณ์ 16 ก.ค.- ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยเดินหน้าตรวจสอบปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ อย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานภาครัฐในพื้นที่เร่งช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือนใน 5 หมู่บ้าน จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้ข้อยุติแล้ว
ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ที่ถูกนายทุนต่างถิ่นจาก จ.พิจิตร ออกโฉนดทับที่ดินทำกินมานานกว่า 30 ปี ชาวบ้านพยายามต่อสู้ร้องเรียนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่เป็นผล จึงเข้าร้องเรียนต่อทีมข่าวอาชญากรรม สำนักข่าวไทย ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เพื่อให้ช่วยตรวจสอบที่มาที่ไปของโฉนดเจ้าปัญหา
เนื่องจากชาวบ้านพยายามต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมมาตลอด 30 ปี แต่ทุกหน่วยงานปฏิเสธ พร้อมระบุนายทุนได้โฉนดถูกต้องตามกฎหมาย ทีมข่าวสำนักข่าวไทย จึงลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว พบความผิดปกติหลายอย่าง จึงนำข้อมูลเข้าหารือผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในขณะนั้น จนในช่วงปลายปีเดือนธันวาคม ยุติธรรมจังหวัดได้รับคำสั่งจากผู้ว่าฯ ให้ตรวจสอบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน พร้อมหาทางช่วยเหลือ
จากนั้นมกราคมต้นปี ยุติธรรมจังหวัดลงพื้นที่พิพาท พบข้อมูลข้อร้องเรียนของชาวบ้านมีมูล พร้อมสำรวจประชากรที่ได้รับผลกระทบมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน รายงานกลับสู่จังหวัด เดือนเมษายน ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์คนปัจจุบันสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เดือนพฤษภาคม 1 ปีผ่านไป คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงพื้นที่พิพาทสอบสวนชาวบ้าน ได้ข้อมูลโฉนด 2 ฉบับ รวมเนื้อที่ 1,300 ไร่ อยู่ในพื้นที่หมู่ 11 แต่โฉนดดังกล่าวส่งผลกระทบครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,300 ไร่ รวม 5 หมู่บ้าน ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งจึงไม่สามารถออกโฉนดเป็นของตัวเองได้
ล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงพื้นที่อีกครั้ง ได้นำแผนที่ทางอากาศ ระบุตำแหน่งโฉนดเจ้าปัญหาทั้ง 2 แปลงให้ชาวบ้าน ระบุตำแหน่งที่ทำกินว่าใช่พื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ โดยแบ่งชาวบ้านออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกถูกโฉนดทับที่ทำกินรวม 47 ราย ทั้งหมดอาศัยในหมู่ 11 กลุ่มนี้มีหลักฐานเป็นใบเสร็จการชำระภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5 ส่วนกลุ่มที่ไม่ทับซ้อนแต่ได้รับผลพวงจากโฉนดทั้งสองแปลง อยู่ใน 4 หมู่บ้าน รวมกว่า 200 ครัวเรือน
ชาวบ้านที่ถูกโฉนดทับที่ทำกิน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเตรียมรวบรวมหลักฐานประกอบสำนวนการสอบสวนชาวบ้านทั้ง 47 ราย เสนอกรมที่ดินเพิกถอนโฉนดทั้ง 2 ฉบับ แต่หากหลักฐานไม่แน่นหนาเพียงพอต่อการเพิกถอน อาจต้องใช้กระบวนการทางศาลแทน ส่วนชาวบ้านนอกเขตโฉนด แต่ได้รับผลพวงจากการออกโฉนด 2 แปลง คณะกรรมการจะจัดการด้านเอกสารให้ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการออกเอกสารสิทธิในอนาคต
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังระบุอีกว่า หลังได้ข้อมูลพิกัดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่จะจัดทำเป็นแผนที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำไปประกอบหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบสำนวน เตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาว่าสมควรเพิกถอนโฉนดหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน.-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• โฉนดนายทุนทับที่ทำกินชาวบ้าน : ร้องขอความเป็นธรรมภาครัฐตั้งแต่ปี 2517
• โฉนดนายทุนทับที่ทำกินชาวบ้าน