กรุงเทพฯ 16 ส.ค. – นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในฐานะ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2559 ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ในกระบวนการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนมาประกอบในการพิจารณาเพื่อทบทวน หรือปรับแก้ร่างอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อกังวลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นักวิชาการ กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ และตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ในหลายพื้นที่ที่แสดงความห่วงใยต่อร่างกฎหมายนี้
นายชาติ กล่าวยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่คำนึงถึงสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอดีต รวมทั้งนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน กำหนดเป็นหลักเกณฑ์อย่างครบถ้วน เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่ เป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน โดยกำหนดหลักการสำคัญให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่อย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมทั้งต่อรัฐ ชุมชนและผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างยั่งยืน ดังนั้น หากร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรแร่และการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างมีระบบ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่เป็นการปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509 ซึ่งใช้บังคับเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุง โดยนำหลักการของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาบัญญัติรวมไว้ในฉบับเดียวกัน มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ โดยกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2.ขั้นตอนการยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ 3. การกระจายอำนาจในการบริหารจัดการแร่ จากเดิมที่การอนุญาตประทานบัตรเป็นอำนาจของรัฐมนตรีได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นการอนุญาตในรูปแบบของคณะกรรมการ ทั้งนี้ คณะกรรมการแร่แต่ละคณะจะมีผู้แทนจากองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแร่ด้วย
4.กำหนดให้การทำเหมืองต้องมีการวางหลักประกันหรือการจัดตั้งกองทุนการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง เพื่อเป็นการวางแผนป้องกันไว้ล่วงหน้า และเป็นมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 5.แบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท ตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบและการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสมกับประเภทของการทำเหมืองนั้น ๆ 6. ยังคงกำหนดให้การขออนุญาตทำเหมือง จะต้องทำEIA หรือ EHIA ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และต้องได้รับอนุญาตจากส่วนราชการเจ้าของพื้นที่ ไม่ว่าพื้นที่ที่มาจากการประมูลหรือพื้นที่ที่เอกชนสำรวจพบแหล่งแร่เอง 7. ลดขั้นตอนในการขอและออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจแร่
8.กำหนดบทลงโทษให้สูงขึ้น 30 เท่า จากกฎหมายปัจจุบัน 9. การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินค่าภาคหลวงแร่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ 10. กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการนำเข้าแร่และส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรเพื่อให้สามารถควบคุมกำกับดูแล เพื่อประโยชน์ในเรื่องของความมั่งคงทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือความปลอดภัยของสาธารณชน และ 11. ปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่รัฐจะเรียกเก็บตามกฎหมายแร่ให้สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย