กรุงเทพฯ 13 ก.ค.-นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้คะแนนโฉมหน้า ครม. 5 เต็ม 10 ชี้รัฐมนตรีไม่ชำนาญในกระทรวงที่รับผิดชอบ ภาพลักษณ์-ประวัติไม่โปร่งใส ทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์
น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ว่า สะท้อนเห็น 4 ประการ ได้แก่ ความเข้มข้นในการกุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีรัฐมนตรีที่มาจาก ครม.ประยุทธ์ 1 หลายคน และผสมผสานร่วมกับแกนนำ กปปส.ที่มาคุมกระทรวงสำคัญ เป็นความสัมพันธ์ค่อนข้างเหนียวแน่น เหนือกว่าการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล
น.ส.สิริพรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ พาย้อนไปยุคก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2540 คือ การมีรัฐบาลผสมที่มีรัฐมนตรีมาจากการนักการเมืองท้องถิ่น หรือ รัฐมนตรีมาเฟียในบางพื้นที่ ขณะเดียวกัน การที่กระทรวงหนึ่ง ๆ มีรัฐมนตรีมาจากหลายพรรคร่วม ทำให้การตรวจสอบจะเกิดขึ้นได้ยาก และคำถามที่ประชาชนคาใจ คือ คนที่เข้ามาคุมกระทรวง มีประสบการณ์ในการทำงาน มีภาพลักษณ์ที่ดีที่จะทำงานของกระทรวงได้หรือไม่ ซึ่งมองดูแล้ว แทบจะไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน คำถาม คือ การจัดตั้งรัฐบาล ได้คำนึงถึงเสียงสะท้อนของประชาชนหรือไม่ โดยบางกระทรวงจะเห็นถึงประโยชน์ทับซ้อน และคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการมีคดีติดตัวมา จากการที่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จึงเชื่อว่าแนวโน้มที่พรรคร่วมรัฐบาลจะเกาะกลุ่มกันแน่นจะมีมากขึ้น เพราะรู้ว่าหากแตกแถว โอกาสที่จะพลิกผันทางการเมืองจึงมีอยู่สูง นี่จึงเป็นความย้อนแย้งที่แม้รูปโฉมอาจจะไม่ค่อยหล่อไม่ค่อยสวย ไม่ถูกใจประชาชน แต่ในด้านหนึ่งก็ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เพราะเกาะกลุ่มกันแน่น อย่างมากที่สุดก็อาจปรับคณะรัฐมนตรีเร็วขึ้น แต่รัฐบาลน่าจะอยู่ได้สักระยะหนึ่ง
“ถ้าใช้คำตรง ๆ คือ รัฐบาลไม่ค่อยสนใจ หรือไม่แคร์เสียงประชาชนเท่าไหร่นัก ต้องกลับมามองว่ากติกาของประชาชนคืออะไร ประชาชนไม่พอใจแล้วทำอะไรได้ ตอนนี้เรามีนักเลงคีย์บอร์ดวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ แต่คำถามคือ ถ้าฝ่ายค้านเกิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ทำได้เลย อาจไม่ต้องรอให้บริหารงานไปเป็นปีก็ได้ แต่เสียงฝ่ายค้านเพียงพอจะจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว.ด้วย อย่างมากที่สุด โหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครม.ทั้งคณะ สภาก็โหวตกลับเข้ามาใหม่ได้ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ รูปโฉมดีขึ้นกว่าเดิม แต่โอกาสที่ประชาชนจะตรวจสอบรัฐบาลจริง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมนั้น กติการัฐธรรมนูญไม่ได้เอื้อเอาไว้ ภาพของรัฐบาลชุดนี้จึงเป็นการสร้างสมดุลเองในพรรคร่วมรัฐบาล อย่างน้อยก็คือ อ้างว่ามาจากกระบวนการเลือกตั้งแล้ว มีการประนีประนอมของพลังอำนาจที่ทำให้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำได้ และรัฐมนตรีต่าง ๆ กระจายให้กับพรรคทั้งหลาย” น.ส.สิริพรรณ กล่าว
น.ส.สิริพรรณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่คณะรัฐมนตรีต้องพิสูจน์หลังจากนี้ คือ ประสิทธิภาพในการตอบสนองปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะนโยบายที่รับปากไว้ ความสามารถที่จะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจขึ้นมาในระยะเวลาที่เศรษฐกิจอ่อนแอ ซึ่งเป็นตัวแปรหลักว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพมั่นคงเพียงใด แต่ยังเชื่อว่าหากฝ่ายค้านยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ เสถียรภาพของรัฐบาลนี้ก็จะอยู่ได้ แค่ต้องพิสูจน์ในการบริหารประเทศ ที่น่าติดตาม คือ การแถลงนโยบายต่อสภาฯ เพราะแต่ละพรรคมีนโยบายเป็นของตัวเอง เชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลจะทำ คือ ออกมาเป็นนโยบายกว้าง ๆ ที่แบ่งเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าดีขึ้น
“การที่รัฐบาลคุมกระทรวงเศรษฐกิจเอง สาเหตุหลัก คือ รัฐบาลต้องคุมเศรษฐกิจภาพรวม และกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้ทุกกระทรวง เป็นเหมือนหัวใจในการกระจายทรัพยากร ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐก็ยังคุมทิศทางของกระทรวงต่าง ๆ ได้อยู่ แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะคุมกระทรวงหลัก แต่การบริหารจัดงานก็อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคพลังประชารัฐ และคิดว่าการเกลี่ยกระทรวงครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนว่าพรรคพลังประชารัฐยังอยู่ภายใต้การเกาะกลุ่มที่เหนียวแน่นของ คสช.และกลุ่ม กปปส.ที่มาอยู่ในพรรคอย่างชัดเจน และ ยอมรับว่า เป็นห่วงกระทรวงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่ไม่ได้เปลี่ยนตัวบุคคลเท่าไหร่นัก เศรษฐกิจไทยในระดับรากหญ้าถดถอยลงมา จึงอยากให้คนที่มีวิสัยทัศน์ กระตุ้นเศรษฐกิจ หาเงินจากนอกประเทศไหลเข้ามา ดังนั้น จึงขอให้คะแนนหน้าตารัฐบาลชุดนี้ ต่ำกว่า 5 คะแนน จากคะแนนเต็มสิบ ด้วยเหตุผลคือ ไม่มีบุคลากรที่มีความชำนาญในกระทรวงที่ตนเองรับผิดชอบ รวมทั้งกรณีที่หนึ่งกระทรวงมีรัฐมนตรีจากหลายพรรคร่วมบริหาร ซึ่งจะส่งผลถึงปัญหาการบูรณาการเชิงนโยบาย ตลอดจนภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่มีประวัติไม่โปร่งใส และทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์” น.ส.สิริพรรณ กล่าว.-สำนักข่าวไทย