ภูมิภาค 12 ก.ค.-ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้งเริ่มคุกคาม มันสำปะหลังกว่า 2,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ไร้น้ำ ยืนต้นตาย ขณะที่ขอนแก่น นาข้าวใน ต.บ้านหว้า อ.เมืองขอนแก่น หลายร้อยไร่ ขาดน้ำมาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วเช่นกัน
นายอำเภอครบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอครบุรี และผู้นำชุมชนตำบลลำเพียก ออกตรวจสอบไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้มันสำปะหลังยืนต้นตายเป็นบริเวณกว้าง พบว่าภัยแล้งเริ่มคุกคาม มันสำปะหลังที่ชาวบ้านที่เพิ่งลงมือเพาะปลูกไปได้เพียง 2 เดือน ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเลย จนมันสำปะหลังกว่า 2,000 ไร่ ขาดน้ำยืนต้นตาย ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 12 หมู่บ้านในตำบลลำเพียก มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 400 ราย เร่งหาทางช่วยเหลือเยียวยา
ส่วนที่ จ.ขอนแก่น ชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วงเช่นกัน นาข้าวของชาวนาในตำบลบ้านหว้า อำเภอเมืองขอนแก่น หลายร้อยไร่ อยู่ในสภาพพื้นดินแห้ง ต้นข้าวที่หว่านไว้ มีลำต้นเล็ก โตช้า และใกล้ยืนต้นตาย เนื่องจากขาดน้ำมาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว จากภาวะฝนทิ้งช่วง
นายมงคล ผองสูงเนิน บอกว่า เริ่มทำนาด้วยวิธีไถหว่านมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน แต่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งฝนไม่ตกลงมานานเดือนกว่าแล้ว ทำให้ต้นข้าวที่ปลูกไว้โตช้ากว่าปกติและใกล้ยืนต้นตาย พื้นดินก็แห้งเป็นดินทราย หากไม่มีฝนตกลงมาภายใน 2 สัปดาห์ ข้าวที่ปลูกไว้ก็จะแห้งตายทั้งหมด แต่เมื่อดูจากการคาดพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว บอกว่าฝนจะตกลงมาอีกประมาณต้นเดือนสิงหาคม จึงจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าที่นา เพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้รอดพ้นไปอีกสักระยะ จนกว่าจะมีฝนตกลงมา
เช่นเดียวกับชาวนารายอื่นๆ ที่มีที่น่าติดกับแหล่งน้ำ ต้องใช้เครื่องสูบน้ำเข้านาเลี้ยงต้นข้าว ทำให้มีค่าใช้จ่ายจากการซื้อเชื้อเพลิงวันละ 300 บาท แลกกับการให้ต้นข้าวมีชีวิตรอด ขณะที่ชาวนาหลายคนที่ไม่มีที่นาติดกับแหล่งน้ำ ก็ทำใจว่าหากไม่มีฝนตกลงมาอีก ข้าวที่ปลูกไว้ทั้งหมดก็คงตาย และคงไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยว
ส่วนสถานการณ์น้ำตรวจสอบล่าสุดปริมาณน้ำในแหล่งน้ำรวม 39,352 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48% แนวโน้มลดลง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9,607 ล้าน ลบ.ม. (36%), ภาคกลาง 509 ล้าน ลบ.ม. (21%), ภาคอีสาน 4,386 ล้าน ลบ.ม. (34%), ภาคตะวันออก 1,131 ล้าน ลบ.ม. (38%), ภาคใต้ 5,434 (60%), ภาคตะวันออก 1,131 ล้าน ลบ.ม. (38%) ทุกภาคมีแนวโน้มปริมาณน้ำลดลง ยกเว้นภาคตะวันตกที่มีปริมาณน้ำ 18,286 ล้าน ลบ.ม. (68%) มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ในภาวะปกติ 20 แห่ง มีอยู่ 15 แห่งที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย คือมีน้ำต่ำกว่า 30% แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 9 แห่ง มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 2 จังหวัด คือ ตาก และมหาสารคาม.-สำนักข่าวไทย