กรุงเทพฯ 11 ก.ค. – ซิตี้แบงก์หวังรัฐบาลใหม่เร่งเบิกจ่ายงบ
กระตุ้นการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย
กล่าวว่า คาดหวังรัฐบาลใหม่มีมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายหรือมีมาตรการที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มเติม
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมถึงการผลักดันนโยบายต่าง
ๆที่เป็นผลบวกกับเศรษฐกิจและการลงทุน ย้ำขอให้มีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว
เพราะปีนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
นางสาวนลิน กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562
มาอยู่ที่ 3.3 % จากการชะลอตัวลงของการลงทุนภาครัฐครึ่งปีแรก
และปีหน้าคาดจะขยายตัว 3.7% ขณะที่การส่งออกปีนี้คาดโตต่ำกว่า 3%
และการท่องเที่ยวโตต่ำกว่า 5% ซึ่งยังมีมุมมองเป็นบวกว่าในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะกลับมาขยายตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจีนไม่ได้ท่องเที่ยวน้อยลง
แต่มีเทรนด์ชื่นชอบท่องเที่ยวสถานที่หรือกิจกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำการบ้านว่าจะทำอย่างไรในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กลับมาบ้านเราอีกครั้ง
สำหรับค่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูงและยังต้องจับตาเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน
โดยคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดปลายเดือน กรกฎาคมนี้
และจะคงอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงกลางปี 2563 อย่างไรก็ตาม คาดค่าเงินบาทจะแข็งค่าถึงต้นปี
2563 เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.20 – 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่ระดับการขยายตัวที่ 2.9%
ส่วนปี 2563 คาดขยายตัว 2.8% โดยอัตราเงินเฟ้อคาดชะลอตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.4%
จากเดิมคาดการณ์ที่ 2.7%
โดยปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การคลังของแต่ละภูมิภาค ความไม่แน่นอนทางการเมือง
สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ
ด้านกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีที่ประมาณ 4.3%
นายบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์
ประเทศไทย กล่าวว่าคาดการณ์อัตราเติบโตของผลกำไรต่อหุ้นทั่วโลกปี 2562 จะอยู่ที่
4.0% แนะนำการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังควรกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายชนิด
โดยเพิ่มลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูง เช่น กลุ่มตราสารหนี้เอกชนสหรัฐ
ที่จัดอยู่ในระดับน่าลงทุน นอกจากนี้ ควรพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมแบบผสมและกองทุนรวมทางเลือก
เพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงที่มีความผันผวนสูงขึ้น
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มวัสดุการผลิต กลุ่มพลังงาน
และกลุ่มเทคโนโลยี จากแรงหนุนของความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ขณะที่กลุ่มธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์
ยังน่าจับตาจากน้ำมันดิบที่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มทะลุ
78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านทองคำมองกรอบปีนี้ที่ 1,300 – 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี.- สำนักข่าวไทย