กรุงเทพฯ 10 ก.ค. – “ชาญศิลป์” วางรากฐาน ปตท.กำไรยั่งยืน รุกตลาดสู่นวัตกรรมสินค้ามูลค่าเพิ่ม เตรียมพร้อม “คนดีคนเก่ง” สานต่อเป็นซีอีโอคนใหม่หลังเกษียณปีหน้า
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.วางแผนงานเติบโตอย่างยั่งยืน จึงพุ่งเป้าหมายดูแลทุกภาคส่วน โดยในส่วนของบุคลากรและผู้บริหารระดับต่าง ๆ ในกลุ่มได้ร่วมกันวางแผนให้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง เตรียมให้มีบุคคลที่มีความสามารถมาทำงานทดแทนกันได้ โดยเฉพาะตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ที่จะมาทดแทนตน ซึ่งคณะกรรมการ ปตท.จะมีการตั้งคณะกรรรมการสรรหาภายในปลายปีนี้
“การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง เพราะว่าต้องได้คนที่เก่งและดีจริง ๆ สามารถทำงานร่วมเป็นทีมได้ ส่วนใครเป็นคงขึ้นกับคณะกรรมการสรรหาของบอร์ด ผมก็สงวนสิทธิ์ในการออกเสียง แต่ได้เตรียมผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานด้วยกันในกลุ่ม ปตท.ให้พร้อมที่สุดเท่าที่จะพร้อมได้” นายชาญศิลป์ กล่าว
ทั้งนี้ นายชาญศิลป์ ดำรงตำแหน่งซีอีโอ ปตท. ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2561 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี 8 เดือน เนื่องจากจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างยั่งยืนเฉลี่ยทุก ๆ ปี ตามการขยายลงทุนของกลุ่ม ปตท. รวมถึงการมุ่งเน้นสร้างผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty) ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีมาร์จิ้นดีกว่าสินค้าปกติ (commodity) เพื่อช่วยชดเชยผลกระทบที่ผันผวนจากเศรษฐกิจโลกในอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่งได้วางแผนขยายธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการของตลาด ขยายงานไปยังต่างประเทศที่มีศักยภาพ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่เข้ามาเสริมและสร้างความยั่งยืน โดยในส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตจะมีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ ปตท.ต้องปรับตัว เพื่อหารายได้อย่างอื่นมาเสริม กำลังพิจารณาขายในรูปแบบโซลูชั่นให้ครอบคลุมมากขึ้น ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งนำโดย บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ก็จะรุกขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยล่าสุดจะเข้าไปร่วมทุนธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม และร่วมทุนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีกในเมียนมา
ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ในส่วนของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) ก็มองเรื่องการขยายการลงทุนโดยเฉพาะในสหรัฐ การขยายการลงทุนในส่วนของการผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก
สำหรับประเด็นการลงทุนใหม่ในอินโดนีเซียด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดย บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) นั้น ขณะนี้อาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบ ขณะที่การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และเมียนมา ก็มีพัฒนาการที่ดี มีการค้นพบปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น
“ที่ผ่านมา ปตท.ไม่เคยประสบปัญหาขาดทุน เพราะว่ามีธุรกิจหลายด้าน มีกำไรสุทธิต่ำสุดประมาณ 20,000 ล้านบาทเมื่อปี 2558 และสูงสุดที่ 135,000 ล้านบาทเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามสภาวะของตลาดโลกในเรื่องของราคาและสเปรดผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่การที่จะรักษาระดับกำไรให้อยู่ระดับ 80,000 ล้านบาท ถึง 100,000 ล้านบาทได้นั้น จะต้องบริหารจัดการและขยายการลงทุนให้มีความเหมาะสม” นายชาญศิลป์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย