อาเซอร์ไบจาน 6 ก.ค.-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการขึ้นมรดกโลกแล้ว 3 แห่ง ส่วนกลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยยังหารือไม่ได้ข้อสรุป
การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ยังคงพิจารณาต่อเนื่องในวาระขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่เริ่มเข้าสู่วาระการพิจารณาตั้งแต่เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน หรือประมาน 13.00น. ตามเวลาในประเทศไทย มีหลายประเทศได้รับการรับรองประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ทั้งแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม เช่น “French Austral Lands and Seas” ของฝรั่งเศส “Vatnajokull National Park (อุทยานแห่งชาติวัทนาโจกุล)- dynamic nature of fire and ice” ของไอซ์แลนด์ “โบราณสถานของ Liangzhu City(เมืองเหลียงโจว)” ของจีน “Mozu-Furuich Kofun Group: Mounded Tombs of Ancient Japan” ของญี่ปุ่น “Babylon” ของ อิรัก “เมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน” ของอินเดีย
ส่วนกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกประกาศมีขึ้นทะเบียนครั้งนี้แล้ว 3 แห่ง จากเสนอขอ 4 แห่ง คือ ทุ่งไหหิน แหล่งโบราณคดีอายุเกือบ 3,000 ปี บริเวณแขวงเชียงขวาง ของ สปป.ลาว เหมืองถ่านหินเก่า Ombin (ออบบิลิน) สุสานฝังศพของ Japa โบราณ ของ อินโดนีเซีย และพุกาม ของเมียนมา
ขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยคณะทำงานที่ตั้งที่มี 6 ประเทศ จากในคณะกรรมการรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกจาก 21 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นอร์เวย์ คิวบา ตูนิเซีย และคูเวต ยังอยู่ระหว่างหารือช่วงพักการประชุมเพื่อหารือรายละเอียดร่วมกันว่าจะให้กลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกหนึ่งแห่งในปีนี้หรือไม่ เนื่องจากออสเตรเลียและนอร์เวย์ยังมีความกังวลเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ ทั้งนี้อินโดนีเซียให้การช่วยเหลือและสนับสนุนไทยอย่าเต็มที่ สิ่งสำคัญสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (IUCN) ยังมีข้อมูลเก่าและไม่สะท้อนพัฒนาการที่ไทยดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจังมาโดยตลอดและไทยได้จัดส่งเอกสารให้ IUCN แล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการออกกฎหมาย 2 ฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นที่ครอบคลุมทั่วประเทศที่ต้องใช้กฎกติการ่วมกันภายใต้กฎหมายของประเทศไทย คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะนำวาระกลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยกลับมาพิจารณาอีกครั้งท้ายวาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศสมาชิก
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะเจ้าหน้าที่ไทย ได้ใช้โอกาสระหว่างช่วงพักการประชุมชี้แจงกับนอร์เวย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก 21 ประเทศ เกี่ยวกับการดำนินงานของไทยที่ผ่านมาเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ พร้อมทั้ง ขอเข้าหารือกับประเทศจีน อีกหนึ่งในคณะกรรมการรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ เพื่อขอการสนับสนุนไทยด้วย.-สำนักข่าวไทย