กรุงเทพฯ 6 ก.ค.- “พ.ต.อ.ทวี” ระบุ คำร้องวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” และกรณี ส.ส.ถือครองหุ้นสื่อ ที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาแล้ว เป็นความท้าทายของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลต่อการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย หากผลคำวินิจฉัยต่างจากศาลฎีกา จะต้องมีเหตุผลที่สังคมยอมรับได้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสเฟสบุ๊คส่วนตัว “Tawee Sodsong” ระบุขณะนี้มีประเด็นสำคัญทางการเมืองที่น่าติดตาม 2 เรื่องใหญ่ที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ คือ กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่เข้าชื่อจำนวน 110 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170(4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(15) เหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ และกรณีที่มีการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลสิ้นสุดลง เพราะถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่ ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไป เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 กรณีดังกล่าว จะมีผลต่อการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดสันติภาพ หรือดำรงความขัดแย้งในสังคมไทย
พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ถือเป็นความพยายาม เพื่อต้องการให้ข้อสงสัยได้รับวินิจฉัยชี้ขาดโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองไทย หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ที่มีกรณีที่ศาลฎีกาได้วางแนวคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ ถึง 2 กรณี คือ
1. กรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อของ ส.ส. ว่าแค่เพียงผู้สมัครเข้ารับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือออกหนังสือพิมพ์จำหน่ายและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) แล้ว
2. กรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า หัวหน้า คสช.เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำสั่ง คสช.ให้จำเลยมารายงานตัว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน จึงเป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง
พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า สิ่งที่ท้าทายคือศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องทั้ง 2 กรณีข้างต้นไปในทางใด จะยึดบรรทัดฐานเดียวกับศาลฎีกา หรือจะวางแนวบรรทัดฐานใหม่ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแตกต่างจากศาลฎีกาที่วางบรรทัดฐานไว้ ศาลรัฐธรรมนูญคงต้องให้เหตุผลที่ทำให้สังคมยอมรับได้ แม้ผลของคำวินิจฉัยจะผูกพันทุกองค์กร รวมถึง ศาลฎีกาด้วยก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ถือเป็นศาลสูงสุดในระบบศาลยุติธรรม ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ คงจะได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบมีเหตุมีผลที่สังคมยอมรับได้
“ความเป็นธรรมทางกฎหมาย และ ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย จะสร้างความศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการยอมต่อกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ และผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่เรื่องดังกล่าวก็อยู่ที่ดุลพินิจจองศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร” พ.ต.อ.ทวี ระบุ . – สำนักข่าวไทย