กทม. 5 ก.ค.-เรามารู้จักโรคตุ่มน้ำพองแบบละเอียด เพราะโรคนี้ไม่ได้มีแค่เพมฟิกอยด์ อย่างที่ “วินัย ไกรบุตร” เป็น แต่มีแยกย่อยออกมาอีก
โรคตุ่มน้ำพอง เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว อาจเนื่องมาจากสาเหตุที่ระบบอื่นๆ ในร่างกายเข้ามาจัดการควบคุมดูแลกันเอง ทำให้ไม่มีอาการแสดงออกมา เช่น ปกติภูมิต้านทานของคนเรามีหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม และมะเร็ง คล้ายกับตำรวจ ทหาร ที่คอยปกป้องประเทศ ต้องฆ่าศัตรู โดยต้องไม่ทำร้ายประชาชนของตน แต่บางครั้งภูมิต้านทานเหล่านี้ก็จำผิด เลยกลับมาทำอันตรายอวัยวะของตนเอง ทำให้เกิดโรคแพ้ภูมิตัวเอง โครงสร้างที่ควรทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง กลับทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกัน กลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอกตามผิวหนัง และเยื่อบุ เช่น ในปาก โรคที่พบบ่อยมี 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคเพมฟิกัส (Pemphigus) และเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid)
โรคกลุ่มนี้พบได้ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เพศชายและเพศหญิง อาการคือ มีตุ่มน้ำพองขนาดต่างๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนัง เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเกิดแผลหรือรอยถลอก ทำให้เจ็บแสบ หากติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนอง ถ้าเป็นรุนแรง เชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีไข้ หรืออาการอื่นได้ แต่ตุ่มน้ำพองแบบเพมฟิกัสมักพบในช่วงอายุ 50-60 ปี มีความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้า ชั้นที่ตื้นกว่า แต่จะกินพื้นที่กว้าง ผู้ป่วยจึงรู้สึกเหมือนถูกน้ำร้อนลวก
ส่วนเพมฟิกอยด์ที่ “วินัย” เป็น พบได้บ่อยกว่า เพมฟิกัสมักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากมีการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าออกจากชั้นหนังแท้ เกิดการแยกชั้นของผิวหนังที่ลึกกว่า แต่กินพื้นที่ไม่กว้าง ความรุนแรงโรคน้อยกว่าเพมฟิกัส
การรักษาโรคตุ่มน้ำพองชนิดเพมฟิกัสและเพมฟิกอยด์ มียาหลักที่ใช้รักษา คือ ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) เริ่มให้ยาในปริมาณมากก่อน หากคุมโรคได้แล้วค่อยลดยา หากผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียง แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่นที่ใช้กดภูมิคุ้มกัน ซึ่งระยะเวลาที่คุมโรคได้อาจใช้เวลาเป็นเดือน และเมื่อคุมได้อาจต้องกินยาต่อไปอีกระยะ เพราะการหยุดยากะทันหันอาจทำให้โรคกำเริบได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่องมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง ไม่ควรลดหรือเพิ่มยาเอง และดูแลรักษาแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น
สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค คือทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนแผลในปาก บ้วนน้ำเกลือ งดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดดและความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้น ที่สำคัญควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
สำหรับประเทศไทยพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคเพมฟิกอยด์ (วินัย ไกรบุตร) ไม่มาก แต่พบทุกโรงพยาบาล ในส่วนของ รพ.จุฬาฯ ในช่วง 5 ปี พบผู้ป่วยโรคนี้ 155 คน ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ปีนี้พบผู้ป่วย 1,300 คน.-สำนักข่าวไทย