กรุงเทพฯ 1 ก.ค. – รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งเร่งช่วยพื้นที่เกษตรขาดน้ำ จี้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่แจงชาวนาคุมพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 ไม่ให้เกินแผนจัดสรรน้ำ 11.21 ล้านไร่
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะช่วงปลายต่อเนื่องถึงกลางเดือนกรกฎาคม จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยายังระบุว่าปริมาณฝนปีนี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10 อีกทั้งการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรหลายพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงสั่งให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังและบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด โดยก่อนหน้านี้เตรียมแผนบริหารจัดการสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/2562 เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและพื้นที่ทำการเกษตร
นายกฤษฎา กล่าวว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปีนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การประเมินความเสี่ยงด้านการเกษตร การกระจายเครื่องมือ เครื่องจักร ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจแก่เกษตรกรให้ปลูกข้าวรอบ 2 ตามแผนข้าวครบวงจร 11.21 ล้านไร่ เพื่อให้ใกล้เคียงแผนการจัดสรรน้ำที่วางเป้าหมายไว้ 11.65 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 104 ของแผนการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งมอบหมายกรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 199 เครื่อง สูบน้ำเติมโรงสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา เพื่อเติมน้ำเข้าคลองซอย ขุดลอกคลอง สร้างทำนบดินชั่วคราว ออกหน่วยบริการน้ำเพื่อการอุปโภค สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเก็บกักและชะลอน้ำในการรักษาระบบนิเวศ ส่วนการเตรียมการด้านประมง ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง หากปริมาณน้ำลดลงให้จับสัตว์น้ำขึ้นจำหน่ายก่อน ด้านพืชเน้นย้ำให้เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอทุกพื้นที่ให้คำแนะนำการดูแลรักษาพืช เช่น นำเศษวัสดุทางการเกษตรคลุมโคน ตัดแต่งกิ่งใบตามหลักวิชาการ เพื่อลดการคายน้ำ และการใช้ระบบน้ำหยดในพื้นที่แปลงหากมีความจำเป็น ปรับเวลาการให้น้ำ
นอกจากนี้ เน้นย้ำให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สงขลา จากการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 111 วัน (1 มี.ค.- 25 มิ.ย. 62) ผลจากการปฏิบัติการฝนหลวงทำให้มีฝนตกร้อยละ 90.09 ขึ้นปฏิบัติการ 3,024 เที่ยวบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 57 จังหวัด สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีเปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 62 ขึ้นปฏิบัติการ 6 วัน 9 เที่ยวบิน มีฝนตกในพื้นที่จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จะดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าปริมาณฝนจะเพียงพอต่อการทำการเกษตร
“มอบหมายกรมฝนหลวงฯ เร่งติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณพื้นที่การเกษตรประสบปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเติมน้ำให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 17 แห่ง และขนาดกลาง 198 แห่ง เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการของพื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ระบุว่า ปัจจุบันนํ้าในอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง น้ำในอ่างฯ 37,474 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 นํ้าใช้การได้ 13,549 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 น้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2561 (46,038 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61) น้อยกว่าปี 2561 จํานวน 8,564 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลลงอ่างฯ 76.51 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน น้ำระบาย 113.61 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ยังสามารถรับน้ำได้อีก 38,594 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนรายงานสถานการณ์น้ำของสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ระบุว่าเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การได้น้อยอยู่ในขั้นวิกฤติต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ 0% เขื่อนสิรินธร 1% เขื่อนคลองสียัด 6% เขื่อนป่าสักฯ7% เขื่อนขุนด่านปราการชล 9% เขื่อนสิริกิติ์ 9% เขื่อนภูมิพล 10% เขื่อนกระเสียว 10% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 12% เขื่อนลำพระเพลิง 13% เขื่อนทับเสลา13% เขื่อนนฤบดินทรจินดา 13% เขื่อนวชิราลงกรณ์ 15% เขื่อนจุฬาภรณ์ 16% เขื่อนแม่กวง 18% เขื่อนห้วยหลวง 19% และเขื่อนศรีนครินทร์ 19% นอกจากนี้ ได้เตือนภัยฝนระดับเฝ้าระวังพิเศษบริเวณจังหวัดตราดอาจมีมีปริมาณฝนมากถึงวันละ 184.2 มิลลิเมตร.-สำนักข่าวไทย