อิตาลี 30 มิ.ย. – รมว.เกษตรฯ ขึ้นเวที FAO ยกศาสตร์พระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 และ 10 พัฒนาเกษตรยั่งยืน ขจัดความยากจน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ 2019 (FAO Conference 2019) ที่สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยกล่าวถ้อยแถลงถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่น้อมนำศาสตร์พระราชาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบรมราโชบาย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาพัฒนาภาคการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการต่าง ๆ ทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน การขจัดปัญหาความยากจนอย่างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในชนบท รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่นอย่างเต็มที่
ในการประชุม FAO ครั้งนี้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการอพยพย้ายถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร ซึ่งรัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวบนเวทีว่า ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานมีสาเหตุทั้งจากปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสภาพแวดล้อมในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อนประเทศไทยเคยเผชิญปัญหาผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามอินโดจีน ทำให้ไทยต้องดูแลเลี้ยงดูผู้อพยพจำนวนนับแสนคน แต่ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รวมถึงมิตรประเทศต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือเพื่อนำผู้ลี้ภัยเหล่านั้นไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3
รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานมีสาเหตุจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อพยพเข้ามาหางานทำในไทย หวังพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นประกอบด้วยแรงงานภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยดูแลคนแรงงานต่างชาติตามหลักมนุษยธรรม โดยแก้ไขปัญหาหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการขึ้นทะเบียนและอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ พ.ศ.2558 ไทยปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ทั้งนี้ จากนโยบายด้านแรงงาน ประเทศไทยยังผ่อนปรนให้สิทธิในการมีถิ่นที่อยู่ถาวรแก่บุคคลต่างด้าว ซึ่งอาศัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30 ปี และประสงค์ที่จะทำงานในประเทศไทย รวมทั้งบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทยให้ได้รับสิทธิการถือสัญชาติไทย สิทธิในการศึกษา และการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับประชาชนไทย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นองค์กรสหประชาชาติและ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาจนมีความก้าวหน้าอย่างมาก
รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวย้ำต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ FAO ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อแก้ไขปัญหาการประมง IUU ซึ่งไทยขอขอบคุณ FAO สหภาพยุโรป (EU) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการแก้ไขปัญหา IUU และปัญหาการค้ามนุษย์และการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมประมง
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินงานร่วมกับสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลกและ FAO เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งดินและน้ำ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารและการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน รัฐบาลไทยยืนยันว่าจะขับเคลื่อนวาระการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถจัดตั้งเป็นองค์กรถาวรภายใต้ธรรมนูญของ FAO ต่อไป สำหรับแนวทางการพัฒนาชนบทและภาคเกษตรกรรมซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งนั้นจะนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรที่ปัจจุบันคนรุ่นหนุ่มสาวสนใจมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการสร้างรายได้แก่ผู้หญิงในชนบท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบทและการแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานของไทย
ในโอกาสนี้รัฐมนตรีเกษตรฯ เข้าพบหารือกับนายโฮเซ กราเซียโน ดาซิลวา ผู้อำนวยการใหญ่ FAO คนปัจจุบัน ชาวบราซิลซึ่งดำรงตำแหน่งมา 2 สมัยเป็นเวลานานกว่า 8 ปี ทั้งนี้ผู้อำนวยการใหญ่ FAO ได้สนับสนุนผลักดันโครงการและแผนงานของประเทศไทยต่างๆ ของไทยมาตลอดได้แก่ สนับสนุนการประกาศกำหนดให้ทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก” ร่วมผลักดันให้มีการจัดตั้งและมอบรางวัลคิงภูมิพลวันดินโลก อีกทั้งขอบคุณ FAO ที่สนับสนุนและร่วมมือทางวิชาการกับไทยในการแก้ไขปัญหาประมง IUU ด้วย
ในการประชุมสมัชชาใหญ่ FAO 2019 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ร่วมลงคะแนนเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Director General) คนใหม่ ซึ่งมีประเทศสมาชิก 191 ประเทศ จากทั้งหมด 194 ประเทศเข้าร่วมการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ในครั้งนี้ ผลปรากฏว่านายฉู ดองหยู ผู้สมัครของจีนได้รับชัยชนะการเลือกตั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ FAO โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนด้วยเสียงข้างมาก 108 คะแนน จาก 191 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม โดยผู้สมัครจากฝรั่งเศส ได้ 71 คะแนน และจอร์เจีย ได้ 12 คะแนน และงดออกเสียง 1 ประเทศ จากนั้นรัฐมนตรีเกษตรฯ ไทยได้กล่าวแสดงความยินดีกับนายฉู ดองหยู ผู้อำนวยการใหญ่เอฟเอโอคนใหม่ ในนามกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยทำหน้าที่ประธานกลุ่มเอเชียใน FAO.-สำนักข่าวไทย