กรุงเทพฯ 16 มิ.ย.-E-Sport กำลังจะถูกพัฒนาสู่การแข่งขันกีฬาอาชีพระดับประเทศ รวมถึงได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาชนิดใหม่ในซีเกมส์ ครั้งที่ 30 แม้บางหน่วยงานจะแสดงความกังวลว่าอาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กติดเกมมากขึ้น
E-Sport หรือเกมออนไลน์ของไทยยังถูกมองในภาพลบ เพราะเป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่มและแทบจะกลายเป็น “เรื่องต้องห้าม” ในครอบครัวไทย ที่ไม่อยากให้ลูกหลานเล่นเกมออนไลน์ เนื่องจากความพยายามสื่อสารเพื่อให้สังคมรู้จักการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่ไทยมีอัตราการเติบโตในธุรกิจ E-Sport สูงเป็นอันดับ 19 ของโลก มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีผู้เล่นเกมออนไลน์หรือเกมเมอร์ทั่วประเทศกว่า 18 ล้านคน
การเติบโตของ E-Sport ส่งผลให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมและพัฒนานักกีฬาให้มีความสามารถในระดับมืออาชีพ จนสามารถจัดการแข่งขันเป็น “ทัวร์นาเมนต์” ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ซึ่งนักกีฬา E-Sport ต้องมีวินัย จัดตารางฝึกฝนเทคนิคและฝึกซ้อมอย่างหนัก ซึ่งแตกต่างจากเด็กที่ติดเกมทั่วไป ปัจจุบันหลายวงการเริ่มให้ความสนใจ E-Sport และสร้างทีมเพื่อส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ถูกจับตามองจากวงการ E-Sport โลก
“ฮิ้วโก้” พงศ์ปณต เรืองอารีรัตน์ หนึ่งในทีม KOG Diamond Cobra แชมป์ E-Sport ของไทย ซึ่งได้สิทธิ์เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน E-Sport ชิงแชมป์โลกที่เวียดนาม มองว่า E-Sport ถือเป็นกีฬาที่สามารถสร้างรายได้ ไม่แพ้กีฬาอาชีพอื่นๆ และกำลังกลายเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆ ที่ชื่นชอบ
การเล่นเกมออนไลน์ จนกลายเป็นข้อกังวลของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เสนอให้มีหน่วยงานเข้ามาควบคุมกีฬา E-Sport เพราะเกรงว่าเด็ก ๆ จะหมกมุ่นกับการเล่นเกมจนกระทบการเรียน นายกฤติน ภัทรศีรจิรากุล ที่ปรึกษาทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด E-Sport มองว่า การเล่นเกมออนไลน์สามารถพัฒนาเด็ก ๆ ได้ในหลายด้าน พร้อมฝากถึงผู้ปกครองให้เปิดใจยอมรับกีฬา E-Sport มากขึ้น
E-Sport ได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาชนิดใหม่ ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ถือเป็นอีก 1 เวที ที่นักกีฬาทีมชาติไทย จะได้พิสูจน์ฝีมือในการก้าวสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพและในอนาคต เป้าหมายของไทย คือ การผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Hub หรือศูนย์กลาง E-Sport ในอาเซียน เพื่อสอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่ส่งเสริมให้นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ.-สำนักข่าวไทย