รัฐสภา 14 มิ.ย.-คณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมส.ส. มีมติขอขยายเวลายกร่างเพิ่มอีก 20 วัน เตรียมเสนอที่ประชุมสภาฯสัปดาห์หน้า พร้อมแขวนเรื่องวิธีการประชุม 3 ประเด็น
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวิเชียร ชวลิต ประธานกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณายกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ซึ่งวันนี้ พิจารณาหมวด 3 เรื่องวิธีการประชุม โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 มาประกอบการพิจารณายกร่าง
กรรมาธิการวิสามัญบางส่วน มีการตั้งข้อสงวน กรณีการทำหน้าที่แทนประธาน เมื่อประธานและรองประธาน ไม่อยู่ทำหน้าที่ ซึ่งจากเดิมให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับเลือกประธานเฉพาะคราว และต้องผ่านการแสดงวิสัยทัศน์นั้น ได้มีการเสนอให้เปลี่ยนเป็นการใช้วิธียกมือนับคะแนน ด้วยเหตุผลเพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้ง่าย ไม่เสียเวลา
ขณะเดียวกัน ยังตั้งข้อสงวน กรณีที่กำหนดให้การประชุมพิจารณาได้เฉพาะเรื่องที่มีอยู่ในวาระการประชุมเท่านั้น โดยให้แก้ไขว่า ควรสามารถเสนอเรื่องเร่งด่วนและเลื่อนระเบียบวาระที่มีอยู่ได้ตามความจำเป็น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังถกเถียงในประเด็นที่รัฐมนตรีอาจจะไม่จำเป็นต้องตอบข้อซักถามในสภาได้ หากเป็นเรื่องไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดินนั้น ซึ่งกรรมาธิการฯบางส่วน เห็นว่า กรณีไม่ควรเปิดเผยเหล่านี้ ที่ประชุมมักกำหนดให้เป็นการประชุมโดยลับอยู่แล้ว จึงไม่ควรเขียนไว้เพื่อให้รัฐมนตรีนำมาใช้อ้างไม่ตอบข้อซักถาม เพราะเมื่อรัฐมนตรีมานั่งในสภาแล้วก็ต้องเคารพสภาฯซึ่งมีหน้าที่ตอบข้อซักถามของ ส.ส.ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี ขณะที่กรรมาธิการวิสามัญอีกส่วน เห็นว่าไม่ควรบีบบังคับให้รัฐมนตรีต้องตอบเนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ และอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ หากตอบข้อซักถามไปเองโดยที่ไม่ได้รับความเห็นจากคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ๆ ก่อน ทำให้เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯจึงได้สั่งแขวนประเด็นดังกล่าวโดยให้คงตามร่างเดิมไว้ก่อน
ขณะที่นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้มีมติขอขยายระยะเวลาในการพิจารณาเพิ่มอีก 20 วัน เพื่อให้กรรมาธิการฯได้พิจารณาให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยประธานกรรมาธิการฯ จะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในสัปดาห์หน้า
โฆษกกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การขอขยายเวลาการพิจารณาจะไม่กระทบต่อการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร เพราะมองว่า หากเร่งยกร่างแล้วทำให้ได้ข้อบังคับที่ไม่สมบูรณ์ อาจจะส่งผลกระทบกับภาพรวมของการทำงานของสภาฯมากกว่า.-สำนักข่าวไทย