กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน 24-28 มิ.ย.นี้ สร้างเครือข่ายพร้อมรองรับการใช้แอลเอ็นจีอาเซียนที่เพิ่มขึ้น และเล็งขยับเป้าประสิทธิภาพพลังงานและเร่งรัดการใช้พลังงานทดแทน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงว่า ประเทศไทยโดยกระทรวงพลังงานเตรียมความพร้อมจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 ( 37thSenior Official Meeting on Energy and associated meetings : The 37thSOME) ระหว่างวันที่ 24– 28 มิถุนายน 2562 เพื่อหารือประเด็นและความร่วมมือด้านพลังงานระดับภูมิภาค เตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Ministers on Energy Meeting : AMEM) ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้ โดยหนึ่งในเป้าหมาย คือ หารือเรื่องการศึกษาโครงสร้งพื้นฐานขนาดเล็กรองรับความต้องการก๊าซแอลเอ็นจีที่คาดว่าปี 2578 ชาติอาเซียนจะนำเข้าแอลเอ็นจีสูงถึง 60 ล้านตัน/ปี ส่วนนี้เป็นของไทยประมาณครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันชาติอาเซียนใช้แอลเอ็นจีประมาณ 10 ล้านตัน/ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือขยับเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงขึ้นเป็นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ในปี 2563 โดยปีที่แล้วตัวเลขส่วนนี้เกินเป้าหมายแล้วอยู่ที่ร้อยละ 21.3 ส่วนพลังงานทดแทนมีการใช้ร้อยละ13 จากเป้าหมายร้อยละ23 ในปี 2563 ซึ่งจะต้องหารือให้มีการปรับเพิ่มการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น
สำหรับการรายงานประเด็นด้านพลังงานที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2562 (Priority Deliverables) จำนวน 4 ด้าน 9 ประเด็น โดยสรุปดังนี้ 1.ด้านไฟฟ้า ประกอบด้วย การส่งเสริมขยายการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคี (LTMS-PIP phase 1) เพื่อขยายเพดานปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยขยายการขายไฟฟ้าจากลาวผ่านไทยไปมาเลเซียจาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ การจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายอาเซียน (RE Integration to grid)
2.การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน จะมีการจัดทำข้อเสนอปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นในตลาดอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (Lab Test) สำหรับทดสอบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศในครัวเรือน และการศึกษามาตรการด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนโครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน 3.ด้านพลังงานทดแทน ประกอบด้วย การลงนาม MOU ระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียน และสถาบันพันธมิตรของอาเซียน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพอาเซียน และการรายงาน กรณีศึกษาห่วงโซ่อุปทานพลังงานชีวมวลสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย เพื่อนำไปขยายผลปรับใช้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกันในอาเซียน และ 4.ด้านก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง การศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG) ภายใต้ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่เจรจาที่สำคัญกับอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐ กลุ่มประเทศความร่วมมือระดับพหุภาคี ได้แก่ อาเซียนบวกสาม และอาเซียนบวกแปด รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เป็นต้น
“การประชุม SOME มีจุดมุ่งหมายให้พลังงานในภูมิภาคอาเซียนสามารถเปิดเชื่อมโยงเครือข่ายดิจิทัลที่ทันสมัยภายในภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นจุดประสานเชื่อมต่อทุก ๆ ด้าน” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว.-สำนักข่าวไทย