กรุงเทพฯ 3 พ.ค. – ทีดีอาร์ไอแจงผลศึกษาต้นทุนเดินทางระบบรางไทย พบประชาชนเสียค่าโดยสารแพงจริง โดยผู้โดยสารต้องควักจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาท/เที่ยว และน่าตกใจที่ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรสูงกว่า แม้เทียบกับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการประชุมระดมความเห็นทุกภาคส่วนเกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ โดยมีผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และอื่น ๆ เข้าร่วม โดยที่ประชุมมีความเห็นถึงหน้าที่สำคัญของกรมการขนส่งทางรางที่ต้องดำเนินการในอนาคต โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าที่ไทยยังสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงผลศึกษาของทีดีอาร์ไอที่เปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการ สรุปรายงานเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข้อมูลพบว่าผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาท/เที่ยว
ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของผู้โดยสาร พบว่าไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด ค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของผู้โดยสารของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาสหรัฐ (67.42 บาท คำนวณอัตราแลกเปลี่ยน 3 พ.ค.62) โดยเป็นการคำนวณค่าผ่านดัชนีค่าครองชีพและกำลังซื้อที่ต่างกันแต่ละประเทศแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อมองในประเด็น “ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง” ทีดีอาร์ไอ ระบุว่าตัวชี้วัดนี้เหมาะกับการเปรียบเทียบโครงสร้างค่าโดยสารระหว่างรูปแบบการเดินทาง พบว่าค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยสูงกว่าประเทศอื่น ๆ แม้กระทั่งเมืองลอนดอนของอังกฤษ โดยไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.478 (14.8 บาท คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 3 พ.ค.62) โดยเป็นการคำนวณค่าผ่านดัชนีค่าครองชีพและกำลังซื้อที่ต่างกันแต่ละประเทศแล้วเช่นกัน โดยผลศึกษาของทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่ารถไฟฟ้ามีต้นทุนสูง เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังน้อยกว่าความสามารถรองรับของระบบที่เคยถูกออกแบบไว้ ( Design Capacity) และไทยสามารถลดลงต้นทุนรถไฟฟ้าได้ด้วยการเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร
ส่วนบทสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทีดีอาร์ไอ ได้ระบุถึงสิ่งที่ภาครัฐควรพิจารณา คือ ให้กำหนดอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้าสอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน และกลไกปรับราคาที่ต้องมีการทบทวนทั้งต้นทุนและปริมาณการใช้บริการ อย่างสม่ำเสมอ และมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น เพื่อให้การประกอบการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและเกิดความเท่าเทียมการใช้มากยิ่งขึ้นและระยะยาว แม้ว่าการพัฒนาตั๋วร่วมของระบบขนส่งสาธารณะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูง แต่ภาครัฐควรเร่งพิจารณาด้วยเช่นกัน .-สำนักข่าวไทย