กทม. 27 พ.ค.- เอกชนหลายหน่วยงานอาลัย “พล.อ.เปรม” จากคำขวัญ โชติช่วงชัชวาลพัฒนา อิสเทิร์นซีบอร์ดแข็งแกร่ง คาดหวังรัฐบาลใหม่สานต่ออีอีซี
วันนี้มีการประชุมหลายหน่วยงานของภาครัฐที่เตรียมพร้อม ส่งมอบไม้ต่อแก่รัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้เดินหน้า ไม่สะดุด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และทั้ง 2 เรื่องนี้ ล้วนถูกวางรากฐานต่อเนื่องมาจากรัฐบาล ของท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทั้งสิ้น โดยท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2523 – 4 สิงหาคม 2531 คนในวงการพลังงาน แวดวงเศรษฐกิจต่างกล่าวขานถึงท่าน และเอกชน หลายหน่วยงาน ต่างแสดงความอาลัย และเพื่อผลักดันนโยบายให้เดินหน้า ท่านพล.อ.เปรม ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้เป็นประธานคณะกรรมการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ในช่วงปี 2524-2526 และท่านก็เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทบางจากอีกด้วย
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พล.อ.เปรม มีคุณอเนกอนันต์ต่อการพัฒนาความมั่นคง และเศราฐกิจของประเทศ และอมตะ ซึ่งขณะนี้มี นิคมฯ 3 พื้นที่ในภาคตะวันออกก็เกิดจากอานิสงส์ ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ที่ พล.อ.เปรม ท่านผลักดันและวางรากฐานไว้ โดยเฉพาะ วลี คำขวัญที่ท่านให้ไว้ คือ “โชติช่วงชัชวาล” ที่เป็นคำขวัญหลักของ การริเริ่มมีนโยบายพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ Eastern Sea Board (ESB) จนเกิดการพัฒนามากมาย และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็สานต่อด้วยการโครงการอีอีซี
ก็หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะเดินหน้าพัฒนาอีอีซี และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ไทยแข็งแกร่งต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของกลุ่มอมตะก็คาดว่าปีนี้จะมียอดขายที่ดินในไทย ไม่ต่ำกว่า 800 ไร่ ซึ่งเป็นอานิสงส์จากอีอีซี และปัญหาสงครามการค้าสหรัฐและจีน รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
ทั้งนี้ ยุคโชติช่วงชัชวาล จุดเริ่มต้นจากที่ประเทศไทย เจอก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย พล.อ.เปรม ผลักดันการพัฒนา อย่างต่อเนื่องจากปี 2524 มีการตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แยกก๊าซมาผลิตไฟฟ้า และปิโตรเคมี เกิดโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ พลาสติก ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และอื่น มีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นแหล่งรองรับสำคัญ และเปิดประเทศโดยการสร้างท่าเรือนํ้าลึก 2 แห่ง คือ “แหลมฉบัง”
เพื่ออุตสาหกรรมทั่วไปและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และที่ “มาบตาพุด” เพื่อเป็นท่าเรือสินค้าประเภทอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะปิโตรเคมิคัล
ในวารสารสภาพัฒน์วารสารสภาพัฒน์กับการพัฒนาประเทศสู่ปัจจุบันและอนาคต ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในยุค พล.อ.เปรม กล่าวว่า พล.อ.เปรม ให้คำขวัญว่า “โชติช่วง ชัชวาล” สำหรับโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด เพื่อยกฐานะเศรษฐกิจของไทยจากร้านชำที่อยู่ในตรอกมาเป็นห้างที่อยู่บนถนนใหญ่ ถือเป็นนโยบายที่เปลี่ยนประเทศไทยจากสังคมกึ่งเกษตรมาเป็นสังคมเกษตรอุตสาหกรรมเต็มตัว ทุกฝ่ายยอมเหนื่อยยาก เพื่อเริ่มงานสำหรับอนาคตของประเทศด้วยโชคดีที่ขณะนั้นท่านนายกฯเปรม เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง คณะรัฐมนตรีเกรงใจและท่านให้การสนับสนุน สภาพัฒน์ฯ ซึ่งถือหลักว่าต้องทำงานทุกอย่าง เพื่อส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว ทำงานทุกอย่างบนโต๊ะ ไม่มีใต้โต๊ะ เป็นหลักใหญ่ที่ใช้กันมาตลอดช่วง 8 ปีของรัฐบาล พล.อ.เปรม
สอดคล้องกับ คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตเลขาสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ สพช. กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เกิดขึ้นในสมัย พล.อ.เปรม ที่มีทีมงาน รัฐมนตรีที่ร่วมกันทำงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ และวางรากฐานเรื่องการลอยตัวราคาน้ำมัน จนเกิดการแข่งขันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมถึงการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งในสมัยนั้น ข้าราชการต่างสบายใจที่ทำงานกับพล.อ.เปรม เพราะท่านซื่อสัตย์ไม่มี เบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่อย่างใด
สำหรับช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2523 ช่วงนั้นเกิดวิกฤตการณ์นํ้ามันโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจตกตํ่าทั่วโลก ไทยได้รับผลกระทบขาดเสถียรภาพทางการเงินและการคลัง ขาดดุลการค้า ขาดดุลงบประมาณ รัฐบาล พล.อ.เปรม จึงดำเนินนโยบายกำหนดวินัยการเงินการคลังอย่างเข้มงวด มีการประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2527 ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนจาก “อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ “ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น “ระบบตะกร้าเงิน” ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แม้ว่าช่วงนั้นคนไทยต้องทนทุกข์ยาก ธุรกิจจำนวนมากต้องล้มละลาย แต่นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการล้มละลายในระยะนั้น ซึ่งผลงานที่ พล.อ.เปรม สร้างให้กับประเทศนั้น นับว่าใช่เรื่องง่ายๆ หากไม่มีความตั้งใจจริง ซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญกล้าตัดสินใจ มุ่งมั่นอย่างมีเป้าหมาย
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนจับตามองคือการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจจะมีใครมาทำงาน โดยในส่วนของกระทรวงพลังงานก็มีกระแสข่าวว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยงานที่รออยู่คือ รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ จะต้องมาตัดสินใจเรื่องการนำเข้าแอลเอ็นจีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่มีปัญหาว่าหากนำเข้ามาในอัตราสูง ในปี 2563 อาจเกิดปัญหาต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าได้.-สำนักข่าวไทย