กรุงเทพฯ 23 พ.ค. – นักเรียนอาชีวะทะเลาะวิวาทกัน ถือเป็นปัญหาซ้ำซากที่ทั้งสถาบันการศึกษาและเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามแก้ปัญหา ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ออกมาตรการเพิ่ม หลังพบเด็กใช้สื่อโซเชียลยั่วยุ จนนำไปสู่การทะเลาะ
นักศึกษาต่างสถาบันรวมกลุ่มตีกัน ทำร้ายคู่อริ เกิดขึ้นบ่อยครั้งช่วงเปิดเทอมใหม่ สาเหตุส่วนใหญ่คือ ทัศนคติ-ความเชื่อของรุ่นพี่ การปรับตัวของรุ่นน้องให้เป็นที่ยอมรับ แม้สถิติล่าสุดพบเกิดเหตุ 9 ครั้ง ซึ่งลดลงหลายเท่า เมื่อเทียบกับปี 2557 เกิดเหตุถึง 245 ครั้ง แต่กลับพบพฤติกรรมยั่วยุทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งด่าทอ ท้าทาย เชิญชวน อัดคลิปทำลายสัญลักษณ์โรงเรียน สร้างความเกลียดชัง
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพิ่มมาตรการใหม่อีก 2 ข้อ เพื่อคุมการใช้สื่อ คือ มาตรการป้องกันและแนวปฏิบัติการใช้สื่อออนไลน์ภายในและภายนอกสถานศึกษา และมาตรการแก้ไขปัญหาการแข่งรถจักรยานยนต์ในทาง จากเดิม 4 ข้อ คือ ป้องกันการทะเลาะวิวาท ติดตามนักเรียนกลุ่มเสี่ยง ห้ามจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ ไม่ให้เล่นพนัน ป้องกันยาเสพติด เพื่อบังคับใช้ในสถานศึกษา โดยเฉพาะ 50 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง บางสถาบันเริ่มแล้ว คุมเวลาการใช้โทรศัพท์ ให้ความรู้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากพบใช้สื่อยั่วยุจนก่อเหตุ ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง
นอกจากการป้องกันปัญหาทะเลาะวิวาท เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มองว่า หากการเรียนการสอนทำให้เด็กมีความสุข ค้นหาตัวเองเจอ และรักในวิชาชีพ จะทำให้ปัญหาทะเลาะวิวาทลดลง จึงร่วมมือ สพฐ. เชื่อมโยงการเรียนวิชาชีพกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการเรียนให้ได้มาตรฐานสูง เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้เรียนอาชีวะ รวมถึงได้กำชับผู้บริหารสถานศึกษาดูแลน้องใหม่อย่างใกล้ชิดในช่วงปรับตัว
ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ ยังยึดมาตรการป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2559 ที่ให้คนในสังคมช่วยกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ หากบุตรหลานทำผิด มิใช่ปล่อยเป็นภาระให้สถานศึกษา หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงอย่างเดียว. – สำนักข่าวไทย