กรมอนามัย 18 พ.ค.-กรมอนามัย แนะพระสงฆ์ฉันอาหารรสไม่หวานจัดและมีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีเส้นใยสูง มีวิตามินซี แทนอาหารประเภทขนมหวาน น้ำหวานต่างๆ เพื่อลดปัญหาฟันผุ พร้อมย้ำ 6 วิธีดูแลสุขภาพ ช่องปากและฟัน
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า พระสงฆ์และสามเณรจำนวนมากมีปัญหาสุขภาพช่องปาก ทั้งโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ รวมถึงโรคปริทันต์ บางครั้งพบเป็นทั้งโรคฟันผุและโรคปริทันต์ในเวลาเดียวกันทั้งที่ยังอายุน้อย สาเหตุการเกิดฟันผุอาจจะเนื่องมาจากอาหารที่ญาติโยมนำมาใส่บาตรหรือนำมาถวาย ส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือน้ำหวานต่างๆ ซึ่งมีส่วนประกอบน้ำตาลอยู่ในปริมาณมาก เมื่อฉันบ่อยๆ และไม่ทำความสะอาดช่องปากให้เพียงพอและถูกวิธีก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุมากขึ้น
นอกจากนี้ พระสงฆ์และสามเณรไม่ค่อยมีโอกาสมาพบทันตแพทย์ โรคในช่องปากจึงอาจลุกลามไปจนถึงขั้นสูญเสียฟัน ดังนั้นพระสงฆ์จึงควรปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างเหมาะสม โดยยึดสูตร 2 2 2 ได้แก่ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที และงดฉันอาหารหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง
ทางด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลสุขภาพช่องปากพระสงฆ์และสามเณรสามารถทำได้ด้วยวิธีการ ดังนี้ 1) แปรงฟันให้สะอาดด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งหลังฉันอาหาร ควรแปรงลิ้นด้วยทุกครั้ง หากแปรงฟันทันทีไม่ได้ให้บ้วนปากให้สะอาดทุกครั้ง หลังมื้ออาหารควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทั่วทุกซี่วันละ 1 ครั้งก่อนนอน
2) ฉันผัก ผลไม้ เพื่อเสริมสร้างฟันให้แข็งแรงและมีเส้นใยช่วยทำความสะอาดฟัน เช่น แตงกวา ฝรั่ง มะเขือเทศ ชมพู่ ส่วนผักผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม สับปะรด กะหล่ำปลี แครอท ผักคะน้า มีความสำคัญในการรักษาเหงือก ฟัน และกระดูก สำหรับประเภทที่มีวิตามินบี 2 เช่น ถั่วลิสง รำ ถั่วเหลือง มะม่วง จะช่วยป้องกันมุมปากแตก ลิ้นอักเสบ
3) พบทันตบุคลากรเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอย่างน้อยปีละครั้ง และตรวจสุขภาพในช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติควรรีบไปรักษา
4) หลีกเลี่ยงการฉันลูกอม ลูกกวาด ท็อฟฟี่ ขนมกรุบกรอบ ของจุบจิบ ขนมหวานเหนียวหรือขนมหวานจัด
5) ไม่ควรสูบบุหรี่หรือใช้ยาสูบทุกประเภทเพราะทำให้ช่องปากสกปรก มีกลิ่นปาก เหงือกอักเสบและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก
และ 6) ไม่ใช้ฟันกัดหรือขบของแข็ง .-สำนักข่าวไทย