กรุงเทพฯ 14 พ.ค. – สัปดาห์นี้ โรงเรียนทยอยเปิดเทอมใหม่ สพฐ.กำชับให้ดำเนินมาตรการต่างๆ รวมถึงโครงการเรียนดี เรียนฟรี 15 ปี ซึ่งพบบางโรงเรียนระดมทรัพยากรเพิ่ม เพื่อรองรับโครงการพิเศษ ด้านนักวิจัยธนาคารโลก แนะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
เงินอุดหนุนโครงการเรียนดี เรียนฟรี 15 ปี กว่า 42,000 ล้านบาท ส่งตรงจาก สพฐ.ไปยังโรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง คิดเป็นค่ารายหัวของนักเรียนชั้นอนุบาล ประถม มัธยม กว่า 6.5 ล้านคน เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดเทอม เงินครอบคลุม 5 รายการ คือ ค่าเล่าเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และค่ากิจกรรม ซึ่งยึดถือจำนวนเงินนี้มาตั้งแต่ปี 2548 เป็นเวลา 14 ปี
สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยน เงินค่าชุดที่ให้ 300-500 บาท ปัจจุบันได้แค่ชุดเดียว ผู้ปกครองนักเรียน ม.1 คนนี้ ต้องซื้อเสื้อผ้า-อุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดกว่า 4,000 บาท อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้โรงเรียนเฉลี่ยเทอมละ 3,700 บาท เป็นค่าจ้างครูต่างชาติ ครูเชี่ยวชาญพิเศษที่ขาดแคลน ค่าสอนคอมพิวเตอร์ ค่าประกัน ค่าไฟ แต่ยินดีจ่าย เพื่อคุณภาพของการเรียน แม้รายได้ไม่มาก
สามเสนวิทยาลัย โรงเรียนขนาดใหญ่แข่งขันสูง มีห้องเรียนโครงการพิเศษ 38 ห้อง หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของห้องเรียนทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 10,500-40,000 บาท เพื่อพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนให้มีคุณภาพ โดยผู้ปกครองสมัครใจจ่าย ผอ.มองหากโครงการเรียนฟรีครอบคลุมค่าใช้จ่าย อาจไม่ต้องระดมทรัพยากรเพิ่ม แนะ สพฐ.ให้แต่ละโรงเรียนสำรวจความต้องการ เพื่อประเมินงบรายหัว
สพฐ.วิจัยเงินอุดหนุนรายหัว เบื้องต้นประเมินเพิ่มค่าไฟ นักเรียนพิการด้อยโอกาส สภาพเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ งบควรเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท ซึ่งแม้งบประมาณที่ สพฐ.ได้รับจะมาก แต่ 2 ใน 3 เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนครู เตรียมเสนอ ครม.ใหม่ หากผ่านอาจทันปีการศึกษา 2564 พร้อมหารือที่ประชุมเสนอ ป.ป.ช. ออกเกณฑ์คุมการเรียกรับเงินจากผู้ปกครองหลังเปิดเรียน
ธนาคารโลก มองครูไม่ครบชั้นไม่ครบห้องเป็นปัญหา เเม้ไทยมีสัดส่วนครูต่อนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คือ 1:16 เเต่เมื่อเทียบจำนวนห้องเรียนที่มีมาก เด็กเฉลี่ยต่อห้องเพียง 14 คน เเต่ขาดครูโดยเฉพาะในห้องเรียนประถมถึงร้อยละ 60 แนะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งจากโรงเรียนทั้งหมดกว่า 30,000 แห่ง จะเหลือราว 16,000 แห่ง ช่วยลดงบจ้างครู แม้ไม่มาก แต่คุณภาพเพิ่มขึ้น อย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
นักเศรษฐศาสตร์มองด้วยว่า ควรเพิ่มการพัฒนาโรงเรียนทางกายภาพ สนับสนุนให้มีห้องสมุดครบทุกแห่ง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการสถานศึกษา เพราะหัวใจสำคัญคือคุณภาพของผู้เรียน. – สำนักข่าวไทย