กรุงเทพฯ 14 พ.ค. – วันนี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บุคคลที่ได้รับตำแหน่งเหล่านี้มาจากกลุ่มใดบ้าง และจะเข้ามาทำหน้าที่อะไรบ้าง ติดตามจากรายงาน
สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาจากหลากหลายกลุ่ม ที่เด่นชัดและมีสัดส่วนมากที่สุด คือ กลุ่มของอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เข้ามาครองเก้าอี้ในสภาสูงได้ถึง 83 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีอดีตประธานและรองประธาน สนช. ทั้ง 3 คน รวมถึงคนที่มีผลงานผ่านสื่อฯ อาทิ นายสมชาย แสวงการ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
ในจำนวนนี้มีบุคคลที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านการคัดเลือกเป็น ส.ว.หลายคน อาทิ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ และ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์
แถมมีน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ที่ถูกวิจารณ์เรื่องการทำหน้าที่ สนช.
นอกจากนี้ยังมีเพื่อนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อีกหลายคน อาทิ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ และ พล.อ.อู้ด เบื้องบน
ขณะเดียวกัน ยังมีอดีต สปช. และ สปท. ร่วมจำนวน 37 คน ได้มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. และ 6 คน ที่มาโดยตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ และปลัดกลาโหม ซึ่งถ้าจะรวมแล้วมี ส.ว.ที่มียศนายพลได้รับแต่งตั้งเข้ามาถึง 101 นาย
สำหรับอดีตรัฐมนตรีที่เพิ่งลาออกเมื่อสัปดาห์ก่อนทั้ง 15 คน ก็ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอย่างที่คาดหมายไว้ ทั้งยังมีอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล “บิ๊กตู่” อีก 4 คน ได้เข้ามานั่งในสภาสูง คือ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร นางอภิรดี ตันตราภรณ์ และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย
ขณะที่มีกลุ่มอดีต ส.ว.ปี 40 จำนวน 7 คน ที่เหลือมาจากกลุ่มข้าราชการและตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ พล.ร.อ.อิทธิคมน์ ภมรสูต และ น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง และนายศุภชัย สมเจริญ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง
รวมๆ แล้ว ส.ว.ชุดใหม่ มีอดีต สนช. 83 คน อดีต สปท. สปช. 35 คน อดีต ครม. 19 คน อดีต ส.ว.ปี 40 จำนวน 7 คน โดยตำแหน่ง 6 คน และกลุ่มอื่นๆ 100 คน
ส.ว.ชุดใหม่ มีภารกิจแรกที่สำคัญ คือ ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ มีอํานาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ส.ว.สามารถเข้าชื่อยื่นตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลได้ ส่วนภารกิจพื้นฐาน คือ กลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และแต่งตั้งบุคคลในองค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนด. – สำนักข่าวไทย