กรุงเทพฯ 14 พ.ค. – ปิโตรนาสได้รับการคัดเลือกขายแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันแก่ กฟผ. ด้าน ปตท.พลาดหวัง พร้อมเผยผลกำไรสุทธิไตรมาสแรกปีนี้ 2.93 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 26.32%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะประชุมเร็ว ๆ นี้ เพื่อพิจารณาผลการคัดเลือกผู้จำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตัน/ปี โดย ปตท.เป็น 1 ใน 12 รายที่เสนอขาย อย่างไรก็ตาม คณะทำงานคัดเลือกให้ปิโตรนาสแอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซียเป็นผู้ชนะ โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ราคาที่ต้องมีส่วนลดสูงสุดเมื่อเทียบกับราคานำเข้าของสัญญาระยะยาวทุกสัญญาที่ประเทศไทยโดย ปตท. เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด
สำหรับ 12 รายชื่อที่เสนอขายแอลเอ็นจี แก่ กฟผ. ประกอบด้วย 1.Chevron U.S.A. Inc 2.Total Gas & Power Asia Private Limited 3.Marubeni Corporation 4.Emirates National Oil Company (Singapore) Private Limited 5.Qatargas 6.JERA Co. Inc 7.Pavilion Gas Pte. Ltd. 8.PETRONAS LNG Limited 9.PTT Public Company Limited 10.Shell Eastern Trading (Pte) Ltd. 11.BP Singapore Pte. Limited และ 12.Vitol Asia Pte. Ltd.
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้รอบอร์ด กฟผ.เสนอผลคัดเลือกอย่างเป็นทางการ โดยโจทย์สำคัญที่ให้ไป คือ ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องต่ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคประชาชนและเป็นไปตามนโยบายการแข่งขันการนำเข้าแอลเอ็นจี โดย กฟผ.จะเป็นผู้นำเข้ารายที่ 2 จากเดิมที่มี ปตท.นำเข้าเป็นรายแรก และใช้สถานีมาบตาพุด จ.ระยอง ของ ปตท.เป็นสถานีแปรสภาพ และขนส่งผ่านท่อของ ปตท.
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุก่อนหน้านี้ว่า เมื่อคัดเลือกตามกระบวนการเสร็จสิ้นทั้งหมด คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีภายในเดือนมิถุนายน 2562 และจะเริ่มส่งมอบแอลเอ็นจีล็อตแรกเดือนกันยายน 2562 โดยสัญญาปีแรกอยู่ที่ 280,000 ตัน/ปี เป็นสัญญา 8 ปี โดยข้อกำหนดให้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่ระดับ 800,000 – 1.5 ล้านตัน/ปี
ด้าน บมจ.ปตท.ประกาศงบไตรมาส1/2562 มีกำไรสุทธิ 29,300 ล้านบาท เติบโต 50% เทียบกับไตรมาส 4/2561 ส่วนหนึ่งมาจากกำไรสตอกน้ำมันตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นจากสิ้นไตรมาส 4 ปี 2561 ที่ 52.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 67.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรอล ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/2561 ลดลง 26.32% สาเหตุหลักจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นปรับลดลงตามส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบที่ปรับลดเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นน้ำมันเตา รวมถึงส่วนต่าง ราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ที่ลดลง.-สำนักข่าวไทย