กรุงเทพฯ 13 พ.ค. – สทนช.ถกหน่วยน้ำตรึงพื้นที่กระทบแล้ง มั่นใจมาตรการป้องพื้นที่เสี่ยงเดินหน้าเต็มที่ เพื่อไม่ยกระดับประกาศเขตภัยพิบัติ พร้อมหารือแผนรับมือฝนคู่ขนาน หลังอุตุฯ คาดการณ์ประกาศเข้าฝนกลางสัปดาห์หน้า ย้ำแผนซักซ้อมการบริหารจัดการน้ำตาม Rule Curve ใหม่ และเร่งแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำให้เสร็จก่อนน้ำหลาก
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 5/2562 ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามผลการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งและแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะพื้นที่่ประสบภัยแล้ง 7 จังหวัด คือ พิษณุโลก ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา มหาสารคาม ตราด และชลบุรี รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มอีก 12 จังหวัด คือ พิจิตร กำแพงเพชร ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง และเพชรบุรี
สำหรับระยะสั้นได้จัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัยโดยรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซมและขุดบ่อบาดาล ซ่อมแซมถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถผ่านพ้นฤดูแล้งปีนี้ไปได้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาระยะกลาง ซึ่ง ครม.อนุมัติงบกลาง 1,226 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความจุให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่น ๆ โดย สทนช.จะลงพื้นที่ทุกเดือนเพื่อติดตามผลดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ 144 โครงการ ซึ่งดำเนินการโดย 6 หน่วยงานได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพบก ให้เสร็จโดยเร็ว
ส่วนสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ล่าสุดขณะนี้มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ 45,476 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 56 ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก และศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้าน ลบ.ม. โดยมีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำกระเสียว มีปริมาณน้ำ 20% อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 24% อ่างเก็บน้ำทับเสลา มีปริมาณน้ำ 24% เป็นต้น และเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก149 แห่ง ซึ่งการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นไปตามหรือใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้ ยกเว้นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ตามแผนจัดสรรไว้ตั้งแต่วันที่ 1พฤศจจิกายน 2561-30 เมษายน 2562 จำนวน 7,772 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อถึงสิ้นเดือนเมษายน 2562 ปรากฎว่าจัดสรรน้ำไปถึง 9,300 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 120 ของแผน
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือร่วมกัน คือ มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์หน้า ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ให้ทุกหน่วยงานรับทราบแนวทางการปรับเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ที่ขณะนี้เสร็จทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 36 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 414 แห่ง และได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการตามเกณฑ์ใหม่นี้ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเกณฑ์ที่ปรับปรุงแล้วมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการเก็บกักน้ำในฤดูถัดไป และการระบายน้ำโดยไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ 2.การติดตามตรวจสอบฐานข้อมูลและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่ สทนช.ได้ดำเนินการรวบรวมแล้วเสร็จ เหลือเพียงขนาดเล็กที่คาดว่าจะมีฐานข้อมูลทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3.ให้มีการเตรียมข้อมูลจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัดให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เร่งตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ สถานีโทรมาตร เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ระบบการระบายน้ำ และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตั้งแต่ต้นฤดูและดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย และ 4.การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วม โดย สทนช.ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการสำรวจและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำตามภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำหลากในฤดูฝนที่จะถึงนี้ สทนช.ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งผลดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมาได้มีการสำรวจและปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ภาคใต้ 111 แห่ง ปัจจุบันปรับปรุงเสร็จ 91 แห่ง และคงเหลือดำเนินงานปี 2562 จำนวน 20 แห่ง ใน จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ตรัง ชุมพร และยะลา
ทั้งนี้ สทนช.ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานให้พิจารณาเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่สำคัญที่มีความเสี่ยงท่วมซ้ำซากเป็นลำดับแรกให้เสร็จก่อนฤดูฝนที่จะถึงนี้ รวมถึงเร่งปรับปรุงสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำให้เป็นไปเป้าหมายการดำเนินงาน 5 ปีแรก (2561-2565) ทั้งประเทศให้เสร็จภายในปี 2565 รวม 562 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 161 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60 แห่ง ภาคกลาง 115 แห่ง ภาคตะวันออก 115 แห่ง และภาคใต้ 111 แห่ง เพื่อให้การระบายน้ำเกิดประสิทธิภาพไม่เกิดสิ่งกีดขวางทางน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อีกทางหนึ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย